รีเซต

รถแข่งขุมพลังองุ่น ! Le Mans พร้อมลุยเชื้อเพลิงแบบยั่งยืน

รถแข่งขุมพลังองุ่น ! Le Mans พร้อมลุยเชื้อเพลิงแบบยั่งยืน
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2566 ( 12:05 )
83

ที่ผ่านมา การแข่งขันยานยนต์หลายรายการ เช่น ฟอร์มูล่าวัน (F1) และ โมโต จีพี (MotoGP) เริ่มบุกเบิกการใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืนและรถพลังไฟฟ้า ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนให้เหลือ 0% (Net Zero Carbon) กันมากขึ้น


การแข่งขันรถ “เลอม็อง” หรือ 24 ชั่วโมง เลอม็อง (24 Hours of Le Mans: Le Mans) การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบสุดหฤโหด ที่ใช้เวลาแข่งกันถึง 24 ชั่วโมงเต็ม ๆ เอง เป็นอีกหนึ่งรายการที่กำลังทดสอบการใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืน หรือ Sustainable fuel เช่นกัน โดยเริ่มจากการนำเชื้อเพลิงจากองุ่นมาใช้ในการแข่งขันก่อน 


จับมือยักษ์ใหญ่สร้างเชื้อเพลิงรักษ์โลก

โดยในปีที่ผ่านมา ผู้จัดการแข่งขันเลอม็องจับมือกับ โททาลเอนเนอร์จีส์ (TotalEnergies) บริษัทด้านพลังงานและเชื้อเพลิงระดับโลก และโปรเจคต์ มิชชันเฮช24 (MissionH24 project) ซึ่งเป็นโครงการการร่วมมือของบริษัทเอซีโอ (ACO) กับ กรีนจีที (GreenGT) ในการผลิตเชื้อเพลิงแบบยั่งยืนใช้ในการแข่งขันรถยนต์ หวังลดการปล่อยมลพิษให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 65 


ทำไมต้องเป็นองุ่น ?

หลายคนคงสงสัยว่าผักผลไม้มีตั้งหลายชนิด ทำไมถึงเจาะจงเลือกองุ่นมาผลิตเชื้อเพลิง โดยเหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะการแข่งขันเลอม็องจัดขึ้นใกล้ ๆ กับเมืองเลอม็อง แคว้นเปอีเดอลาลัวร์ในประเทศฝรั่งเศส แหล่งขึ้นชื่อเรื่องการผลิตไวน์ 


ซึ่งขั้นตอนผลิตไวน์ จะเหลือกากองุ่น และผลพลอยได้เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก บริษัทโททาลเอนเนอร์จีส์จึงตัดสินใจนำ วัสดุชีวมวล (Biomass) หรือสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานจากธรรมชาติ โดยมากนิยมนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง 


นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าองุ่นเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าผักผลไม้ชนิดอื่น เนื่องจากโครงสร้างและสารต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในองุ่น เช่น คาร์โบไฮเดรต นำมาแยกส่วนเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ง่ายกว่า ไม่ต้องผ่านกระบวนการอื่นอย่างการปอกเปลือก หรือแยกเมล็ด อีกทั้งยังมีราคาถูก หาได้ง่ายในท้องถิ่น 


ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงตัดสินใจนำชีวมวลจากองุ่นเหล่านี้ที่เหลือจากการผลิตไวน์ในท้องถิ่นมาผลิตเป็น เชื้อเพลิงเอ็กเซลเลี่ยม เรซซิ่ง 100 (Excellium Racing 100) นั่นเอง





จากองุ่น สู่เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน

โรแม็ง โอบรี (Romain Aubry) ผู้จ้ดการฝ่ายเทคนิคบริษัทโททาลเอนเนอร์จีส์ อธิบายขั้นตอนการผลิต เชื้อเพลิง เอ็กเซลเลี่ยม เรซซิ่ง 100 ว่าบริษัทเริ่มจากการนำ “ชีวมวลจากองุ่น” มาเปลี่ยนเป็น “เอทานอลบริสุทธิ์” ก่อน โดยเอทานอลนั้นเป็นแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่ง ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์


จากนั้นจึงเปลี่ยน “เอทานอล” ให้เป็นไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทหนึ่ง ด้วยกระบวนการเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้แก๊สโซลีน (Alcohol-To-Gasoline: ATG) ซึ่งจะแยกอะตอมออกซิเจนออกจากแอลกอฮอล์ เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนที่บริสุทธิ์” 


อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด ตัวอย่างเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนที่เรารู้จักกันดีได้แก่ น้ำมันดิบ ถ่านหิน ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ 


แต่ระยะหลังมีความพยายามสังเคราะห์เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนจากวัสดุในธรรมชาติกันมากขึ้น เพราะน้ำมันดิบ ถ่านหินเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งในธรรมชาติกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงต้องหาแหล่งเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทน


นอกจากนี้ ผู้จัดกล่าวว่า ปัจจุบันรถแข่งในรายการเลอม็อง 24 ชั่วโมง ทั้งหมดใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืน ส่วนยางรถในตอนนี้ใช้วัสดุทดแทนถึงร้อยละ 46 ในการผลิต และตั้งใจว่าภายในปีค.ศ. 2030 รถแข่งทุกรุ่นในรายการเลอม็องทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน เพื่อให้การแข่งขันประชันความเร็วมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป



ที่มาช้อมูล Motorsport, Reuters, Sciencedaily,Totalenergies

ที่มาภาพ Unsplash


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง