นักวิทยาศาสต์คิดค้น "ออกซิเจนแบบฉีดเข้าเลือด" ช่วยรักษาภาวะขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว
ภาวะขาดออกซิเจน นับเป็นภาวะการเจ็บป่วยที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกาย การบาดเจ็บหรือติดเชื้อสามารถนำพาสู่ภาวะขาดออกซิเจนได้ ยกตัวอย่างเช่น โควิด-19 เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้ปอดแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนได้ลดลง ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลวในที่สุด
ปัจจุบันการรักษาภาวะขาดออกซิเจนจากการหายใจที่ไม่เพียงพอ สามารถจัดการได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ ทว่า อุปกรณ์ดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาจัดเตรียมชั่วขณะหนึ่ง อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง เช่น ทางเดินหายใจได้รับบาดเจ็บ หรือการติดเชื้อจากการใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นวิธีการใหม่ที่สามารถแก้ไขภาวะขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว ด้วย "การฉีดออกซิเจน" เข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง
งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ออนไลน์ PNAS โดยเป็นการพัฒนาออกซิเจนในรูปแบบฉีด ที่สามารถเพิ่มระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้อย่างรวดเร็ว และมีผลช่วยลดความรุนแรงของภาวะขาดออกซิเจนในผู้ป่วยวิกฤตได้
ในการผลิตออกซิเจนแบบฉีดนี้ นักวิทยาศาสตร์นำออกซิเจนเหลวผ่านเข้าสู่ช่องหัวฉีดที่จัดแบ่งเป็นห้อง โดยในแต่ละห้องจะมีช่องหัวฉีดขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เพื่อตีให้ออกซิเจนเหลวแตกตัวจนกลายเป็นฟองอากาศขนาดเล็กยิ่งกว่าเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ ฟองอากาศยังถูกเคลือบผิวด้วยสารจำพวกไขมัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟองอากาศเกาะกันหรือแตกออก
ฟองอากาศขนาดจิ๋วเหล่านี้จะเต็มไปด้วยแก๊สออกซิเจน และสามารถฉีดเข้าหลอดเลือดได้ทันทีโดยไม่ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันจากฟองอากาศ (Air embolism) ฟองอากาศที่เข้าไปในกระแสเลือดจะยึดเกาะกับผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง แล้วตามมาด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจน ซึ่งในภาวะขาดออกซิเจนที่มีระดับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงต่ำอยู่แล้ว ทำให้แก๊สออกซิเจนในฟองอากาศแพร่เข้าสู่เม็ดเลือดได้เร็วขึ้นด้วย
จากการทดลองในเลือดที่บรรจุในหลอดแก้ว พบว่าหลังได้รับออกซิเจนแบบฉีดเข้าไปแล้ว ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 95% ภายในไม่กี่นาที ส่วนการทดลองในหนูพบว่าหลังได้รับออกซิเจนแบบฉีดแล้ว จะมีความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น 20-50%
เพราะฉะนั้น ออกซิเจนแบบฉีดนี้อาจนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาภาวะขาดออกซิเจนแบบเฉียบพลันได้ โดยเป็นการยื้อชีวิตผู้ป่วยในระหว่างที่รอใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Science Alert