รวมค่าลดหย่อนภาษี สำหรับยื่นปี 2564


เหลือเวลาไม่มากสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำในการวางแผนภาษีเพื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด. เพื่อนำไปคำนวณในการเสียภาษีของปี 2563 ที่จะยื่นต้นปี 2564 และเป็นช่วงเวลารวบรวมค่าลดหย่อนที่ช่วยให้เสียภาษีน้อยลง ที่มีหลายคนเข้าใจผิดว่า คิดว่ายิ่งลดหย่อนภาษีไปเท่าไหร่ ก็จะเสียภาษีน้อยลงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีเฉพาะบุคคลด้วย โดยปัจจุบันใช้อัตราก้าวหน้าในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี 2563 กรมสรรพากรได้กำหนดรายการหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนต่างๆ ไว้ เพื่อลดภาระของยอดภาษีที่ต้องนำส่ง โดยแบ่งค่าลดหย่อนออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว
ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว | ค่าลดหย่อน |
ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนคู่สมรส กรณีไม่รายได้หรือยื่นร่วม | 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนบุตร | คนละ 30,000 บาท |
ค่าลดหย่อนบิดามารดา | คนละ 30,000 บาท |
ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ | คนละ 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 60,000 บาท |
*บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
- บุตรชอบด้วยกฎหมาย หักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน
- บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
- กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่จำนวนตั้งแต่ 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้
- กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้รวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
บุตรที่นำมาหักลดหย่อนต้องไม่มีเงินได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป และเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- เป็นผู้เยาว์
- บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา
- เป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู
การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยนับรวมบัตรที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนด้วย
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
กลุ่มที่ 2 ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการลงทุน
ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการลงทุน | ค่าลดหย่อน | |
1 | ประกันสังคม | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาท |
2 | เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป / เงินฝากแบบมีประกันชีวิต | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
3 | เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท *ข้อ 2 และ 3 รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท |
4 | เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท |
5 | เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ | ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท |
6 | กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) *เงื่อนไขคือต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี | ลดหย่อนภาษีได้ 30%ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท |
7 | กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน | ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท |
8 | เงินสะสมจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) | ไม่เกิน 13,200 บาท |
9 | กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) | ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท *ข้อ 5 - 9 รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
10 | กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) | ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท |
*ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึง มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
*ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท
กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์
ค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์ | ค่าลดหย่อน |
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย | ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
โครงการบ้านหลังแรกปี 2559 | ไม่เกิน 120,000 บาท |
อสังหาฯที่เข้าเงื่อนไขมีอะไรบ้าง
บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด คอนโด พูดง่ายๆคือต้องเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อพักอาศัยที่อยู่บนที่ดินเท่านั้น ส่วนคนที่ซื้อที่ดินมาหรือมีที่ดินอยู่แล้วแล้วนำมาสร้างบ้านเอง อันนี้ใช้ไม่ได้
ราคาอสังหาฯต้องเท่าไร ดูยังไง
ต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท ถามว่ายึดราคาไหน เพราะบางโครงการมีส่วนลด บางคนกู้ธนาคารมาเกินราคาซื้อขาย ราคาที่จะใช้ตามเงื่อนไขคือราคาจากสัญญาซื้อขายของกรมที่ดิน ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. ๑๓) ที่มีตราครุฑ เท่านั้น ถ้าราคาตามเอกสารนี้ไม่เกิน 3 ล้าน ก็คือใช้ได้หมด ต่อให้จะกู้ธนาคารมาเกิน 3 ล้านก็ตาม ส่วนห้องที่ราคาเกิน 3 ล้าน แต่ได้ส่วนลดมาจนราคาต่ำกว่า 3 ล้าน ก็ใช้ได้ครับ เพราะผู้ขายจะต้องแจ้งราคาหลังหักส่วนลดให้กรมที่ดินอยู่แล้ว
ช่วงเวลาที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ตอนไหน
ไม่ว่าจะซื้อสดหรือกู้ซื้อ จะเป็นบ้านใหม่ บ้านมือสอง ได้หมด แต่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559
ผู้ซื้อต้องมีเงื่อนไขยังไงบ้าง
ผู้ซื้อต้องไม่เคยเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดมาก่อน
- ถ้าเคยมีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินเปล่า เช่นได้รับมรดกหรือซื้อมา อันนี้ได้ เพราะไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
- ถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านที่มีทะเบียนบ้านแล้ว อันนี้ไม่ได้
- ถ้าเคยกู้ร่วมกับใครเพื่อซื้ออสังหาฯมาก่อนและตอนที่โอนกรรมสิทธิ์ยังมีชื่อกู้ร่วมกับเค้าอยู่ อันนี้ไม่ได้ ถ้าอยากได้ต้องไปถอนชื่อออกมาจากการกู้ร่วมก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์หลังใหม่ ทำยังไงให้ถามธนาคารที่กู้มา จะมีขั้นตอนอยู่
กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค
เงินบริจาค | ค่าลดหย่อน |
เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนการกีฬา เงินบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ | ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน |
กลุ่มเงินบริจาคทั่วไป เช่น บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล | ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน |
เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง | สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท |
หลักฐานยืนยันการใช้สิทธิ์
ใบอนุโมทนาบุญหรือใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อคุณเป็นผู้บริจาค (แต่ถ้าบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) จะไม่ต้องใช้หลักฐานการบริจาค)
กลุ่มที่ 5 ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ | ค่าลดหย่อน |
โครงการช้อปดีมีคืน สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเวลา 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 | ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยได้รับเงินภาษีคืนตามะระดับรายได้ |
ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต | ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง เมื่อมีเงินได้จากค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ หรือเงินได้การประกอบธุรกิจอื่นๆ |
'คนละครึ่ง' หรือ 'ช้อปดีมีคืน' เลือกมาตรการไหนดี?
หลายเรื่องเข้าใจผิดในมาตรการ 'ช้อปดีมีคืน'
ช้อปดีมีคืน จ่ายสูงสุด 30,000 บาท ได้รับเงินคืนภาษีปี 2563 เท่าไหร่?
การคำนวณเงินภาษีที่ต้องจ่าย
รายได้ต่อปี - ค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิเงินได้สุทธิ x อัตราภาษีแบบขั้นบันได
ตัวอย่าง การคำนวณภาษี ของคนที่มีรายได้ต่อปี 420,000 บาท
420,000 – 100,000 (ค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) – 60,000 (ค่าลดหย่อนส่วนตัว) – 7,200 (ประกันสังคม) = 252,800 (เงินได้สุทธิ) และจะต้องเสียภาษีจำนวน 5,140 บาท ตามวิธีการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | เงินได้สุทธิ 252,800 บาท | การคำนวณภาษี |
0 – 150,000 | ได้รับการยกเว้นภาษี | จำนวน 150,000 แรก | ได้รับการยกเว้นภาษี |
150,001 – 300,000 | 5% | 252,800-150,000 | 102,800 x 5% = 5,140 |
ในกรณีเดียวกัน หากซื้อกองทุน SSFX เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จะมีเงินได้สุทธิเท่ากับ 168,800 บาท (420,000 – 100,000 – 60,000 – 7,200 – 50,000 = 202,800) และจะเสียภาษีจำนวน 2,640 บาท ตามวิธีคำนวณ ดังนี้
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | เงินได้สุทธิ 202,800 บาท | การคำนวณภาษี |
0 – 150,000 | ได้รับการยกเว้นภาษี | จำนวน 150,000 แรก | ได้รับการยกเว้นภาษี |
150,001 – 300,000 | 5% | 202,800-150,000 | 52,800 x 5% = 2,640 |
ตัวอย่างดังกล่าว หากมีการใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อน จะสามารถเสียภาษีลดลง 2,500 บาท (5,140 - 2,640) ซึ่งถ้าหากยังต้องการเสียภาษีน้อยลงจากเดิมอีก อาจลองพิจารณาซื้อกองทุน SSFX เพิ่มเติมจากเดิมเป็น 100,000 บาท ก็จะเสียภาษีลดลงเหลือเพียง 140 บาทเท่านั้น
การจ่ายภาษี และการยื่นภาษีประจำปี
โดยปกติแล้ว นายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ของพนักงานในแต่ละเดือนและนำส่งกรมสรรพากรให้ เมื่อครบปี นายจ้างจะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือ 50 ทวิ คือ เอกสารแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษี และแสดงข้อมูลรายได้ว่าได้มาจากที่ใดและจำนวนเท่าไหร่บ้าง เป็นเอกสารที่ผู้มีเงินได้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีเงินได้ หรือ ภงด 90/91 ภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปีถัดไปจากปีภาษี สามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ที่ กรมสรรพากร
รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)
ภาพโดย mohamed Hassan จาก Pixabay
++++++++++