Soft Power กระแส "ปลากุเลา" แรงต่อเนื่อง ยอดขายพุ่งกว่าร้อยละ 30
กระแส "ปลากุเลาเค็มตากใบ" ยังแรงต่อเนื่อง หลังเชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้รังสรรค์เมนูอาหารไทยในงานเลี้ยงผู้นำเอเปค 2022 ครั้งนี้ ได้เลือกใช้ เป็นวัตถุดิบไทยที่เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI มาปรุงอาหารให้ผู้นำที่มาร่วมประชุมได้รับประทาน นอกจากจะเพิ่มยอดขายให้แก่ "ปลากุเลาเค็มตากใบ" จนทำส่งขายแทบไม่ทันแล้ว ยังส่งผลดีกับยอดขาย ปลากุเลาเค็ม ในจังหวัดตรังที่มียอดขายเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่มีการประชุมเอเปคด้วย
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคก-วา อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ซึ่งแปรรูปปลากุเลาและปลาสีเสียด โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว มีสมาชิกทั้งหมด 13 คน ก็มียอดสั่งซื้อปลากุเลาเข้ามาเป็นจำนวนมาก
นางเกษร ณ พัทลุง อายุ 62 ปี ประธานกลุ่มฯ บอกว่า จากกระแสปลากุเลาตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทางกลุ่มได้รับผลดีตามไปด้วย เพราะมีลูกค้าทั้งในและต่างจังหวัด ต่างก็ต้องการซื้อปลากุเลากันมากขึ้น โดยในช่วงสั้นๆ หลังการประะชุมเอเปคที่ผ่านมา มียอดสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จนทางกลุ่มต้องเร่งจัดหาวัตถุดิบจากชาวประมงในพื้นที่ และนำมาแปรรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อส่งขายให้ทันตามยอดสั่งซื้อที่เข้ามาจำนวนมาก แต่กระบวนการทำปลากุเลา แต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน จึงจะแล้วเสร็จ และจัดส่งได้ และปลากุเลา จะหาได้เพียงปีละ 4 เดือนเท่านั้น คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม - มกราคม โดยราคา อยู่ที่กิโลกรัมละ 700 บาท
นางเกษร บอกอีกว่า บอกว่า นอกจาก ปลากุเลาจะขายดีขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลดีไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทางกลุ่มจัดทำขึ้นด้วย จากปกติขายได้เดือนละประมาณ 400 กิโลกรัม ก็เพิ่มเป็นเกือบ 600 กิโลกรัม เพราะลูกค้าก็พยายามหาแหล่งซื้อจากที่อื่นด้วย โดยส่วนใหญ่อยากได้ไปเป็นของฝาก หรือส่งไปให้กับคนที่เคารพนับถือ โดยปลาเค็มที่ทำจะเน้นสดใหม่ เมื่อเรือประมงเข้ามา ก็จะรีบนำปลาไปแปรรูปทันที ผู้สนใจ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก “ปลาเค็มกางมุ้ง หาดสำราญ”
ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.ตรัง