รีเซต

เหล็กจ่อขึ้นราคา 10-20% ช่วงไตรมาส 2 สหวิริยาหวั่นสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อลากยาวไตรมาส 3

เหล็กจ่อขึ้นราคา 10-20% ช่วงไตรมาส 2 สหวิริยาหวั่นสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อลากยาวไตรมาส 3
ข่าวสด
15 มีนาคม 2565 ( 16:51 )
166
เหล็กจ่อขึ้นราคา 10-20% ช่วงไตรมาส 2 สหวิริยาหวั่นสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อลากยาวไตรมาส 3

ข่าววันนี้ นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเมินสถานการณ์ราคาเหล็กในประเทศจะปรับขึ้น 10-20% ช่วงไตรมาส 2/2565 ตามกลไกตลาดโลกอย่างราคาเหล็กของยุโรปที่ปรับขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นโดมิโนเอฟเฟกต์จากผลกระทบทางอ้อมของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทั้งยังส่งผลกระทบด้านราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ที่ทำให้ต้นทุนการผลิต โลจิสติกส์และการขนส่งในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วโลกสูงขึ้น

 

โดยรัสเซียมีปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กไปทั่วโลก 8% ยูเครน 4% รวมกันประมาณ 58 ล้านตัน ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะส่งผลให้กำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนนี้หายไป ทำให้อุปทานเหล็กตึงตัว ผลักดันราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้เหล็กด้วย

 

“ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งหากสถานการณ์สู้รบยืดเยื้อจะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกชะงัก ต้นทุนและราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวขึ้น จนอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และไม่อยากให้สถานการณ์ยืดเยื้อคุยกันไม่จบ หากลากไปถึงไตรมาส 3 จะยิ่งลำบากกว่านี้”

 

ทั้งนี้ ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กโลกปี 2565 มีความต้องการ 1,896.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,855.4 ล้านตัน โดยจีนยังเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กสูงสุด 985.1 ล้านตัน ส่วนความต้องการเหล็กในไทยปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 19.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 18.64% เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องติตตามสถารการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก การลดกำลังการผลิตของประเทศจีน ต้นทุนพลังงาน และการขนส่งที่มีผลต่อราคาเหล็ก

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศยังพอมีวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่ส่วนหนึ่ง จึงพยายามขึ้นราคาให้ช้าที่สุดตามนโยบายดูแลราคาสินค้าของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าแพงกว่าประเทศอื่น แต่สิ่งสำคัญ คือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง