รีเซต

“ระบบรางไทย” รถจักรไอน้ำสู่ไฮสปีด เทรน (ตอน 1)

“ระบบรางไทย” รถจักรไอน้ำสู่ไฮสปีด เทรน (ตอน 1)
TNN ช่อง16
2 มีนาคม 2564 ( 03:25 )
272
“ระบบรางไทย” รถจักรไอน้ำสู่ไฮสปีด เทรน (ตอน 1)

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งถือเป็น “โครงการพื้นฐานหลัก” ในการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบาย Thailand 4.และเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่จะพลิกโฉมหน้าการขนส่งในระบบรางของประเทศไทย

สร้างชาติในยุคล่าอาณานิคม

ประวัติศาสตร์หน้าแรกๆของรถไฟไทย สามารถย้อนไปถึงปี พ.ศ.2398 ในรัชกาลที่ 4 ซึ่ง  เซอร์ จอห์น เบาริงอัคราชทูตจากประเทศอังกฤษเดินทางมาขอเจรจาเรื่องสนธิสัญญาฉบับใหม่ พร้อมกับนำรถไฟจำลองขนาดเล็กมาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการและมีการแนะนำถึงแนวคิดในการก่อตั้งการรถไฟแห่งแรกของประเทศไทย ว่า จะส่งผลดีอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ แต่ข้อจำกัดของประเทศในยุคนั้น ก็ยังไม่สามารถทำให้การพัฒนาระบบรางเป็นรูปเป็นร่าง

ในขณะนั้นลัทธิล่าอาณานิคม เป็นภัยคุกคามที่ชาติตะวันตกมักอ้างความด้อยพัฒนาเข้ายึดเอาประเทศต่างๆ เป็นอาณานิคม ดังนั้นการเร่งพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือยุคสมัยแห่งการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ระบบการขนส่งทางรางโดยใช้รถจักรไอน้ำ ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า การพัฒนาระบบคมนาคมโดยระบบราง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศก้าวหน้า รอดพ้นการตกเป็นประเทศอาณานิคมของชาติตะวันตกก็คงไม่เกินความเป็นจริงแต่อย่างใด !

รถไฟสายแรกที่เกิดขึ้น คือ  เส้นทางกรุงเทพ – นครราชสีมา แต่เปิดเดินรถก่อนช่วง กรุงเทพ- พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทย 

ขบวนรถไฟ ที่ให้บริการแรกเริ่มนั้นใช้รถจักรไอน้ำจากอังกฤษ ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ก่อนจะพัฒนาเป็นน้ำมันเตา และดีเซลที่ใช้งานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เติบโตควบคู่การพัฒนาประเทศ

จากการขนคน -  ขนสินค้าระหว่างเมือง เมื่อประเทศมีการพัฒนาจากสังคมเกษตร เป็นสังคมอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง การขนส่งระบบรางก็พัฒนามาสู่การช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่ โดยนำเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเข้ามาใช้  ซึ่งรถไฟฟ้าเส้นแรก คือ สายสีเขียว เริ่มให้บริการ เมื่อปี 2542 ในย่านใจกลางกรุงเทพ บริเวณ สยาม สีลม ถนนสุขุมวิท สายต่อมารถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ในปี 2547 

ต่อมาในปี 2553 มี “ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” หรือ “แอร์พอร์ตลิงค์” หลังจากนั้นก็เกิดรถไฟฟ้าเส้นที่ 4 สายสีม่วง เปิดบริการปี 2559 มีการขยายเส้นทางเดิมออกไปหลายสถานี และก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกหลายเส้นทาง

กุญแจสำคัญ Thailand 4.0

ความไม่หยุดนิ่งของการพัฒนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านต่างๆ ของกระแสโลก จากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล นโยบาย Thailand 4.0 จึงถูกกำหนดเป็นเข็มมุ่งที่จะนำพาประเทศให้ยืนบนเวทีโลกได้

การพัฒนาของการขนส่งระบบรางก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนนโยบายข้างต้น  ซึ่งในแง่เทคโนโลยีได้พัฒนามาสู่รถไฟความเร็วสูง ตอบโจทย์การเดินทางและการขนส่งสินค้า (Logistic) ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้เดินหน้าก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง คือ รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน จากกรุงเทพ - นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พัฒนาความเร็วจากรถไฟธรรมดา 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาเป็นความเร็วที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในตอนหน้า มาหาคำตอบกันว่า ระบบราง จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ และยกระดับชีวิตคนไทยได้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง