รีเซต

4 นวัตกรรมกำจัดขยะพลาสติกในน้ำ | TNN Tech Reports

4 นวัตกรรมกำจัดขยะพลาสติกในน้ำ | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
6 เมษายน 2566 ( 15:50 )
67
4 นวัตกรรมกำจัดขยะพลาสติกในน้ำ | TNN Tech Reports



"ขยะพลาสติก" ถูกฝังกลบและทิ้งในมหาสมุทร 79% 


รายงานจากสมาคมการศึกษาทางทะเล Sea Education Association ในรัฐแมสซาชูเซทส์ สหรัฐฯ ระบุว่า

  • ปัจจุบันมีสัดส่วนขยะพลาสติกเพียง 9% ที่ถูกนำไปรีไซเคิล

  • ถูกนำไปเผา 12%

  • ถูกนำไปฝังกลบหรือทิ้งในมหาสมุทร 79% ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิด เช่น พะยูน เต่าทะเล และสัตว์ชนิดอื่น ต้องตายเป็นจำนวนมากกว่าล้านตัวในแต่ละปี


"ขยะพลาสติก" ถือเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย และหากกำจัดด้วยวิธีการเผาโดยไม่มีการควบคุมอย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงเป็นตัวการให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ด้วยผลกระทบเหล่านี้ จึงทำให้บรรดานักพัฒนาจากทั่วโลกพยายามคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยกำจัด และจัดการขยะในแหล่งน้ำต่าง ๆ



ประเทศที่มีขยะมากที่สุดในโลก


จากการรายงานของเว็บไซต์สื่อด้านสิ่งแวดล้อม Euronews Green เมื่อปี 2564 เผยว่า แม่น้ำของเมืองพารณาสี ประเทศอินเดีย ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 126.5 ล้านกิโลกรัม อันดับที่ 2 คือ ประเทศจีน ตามด้วยอินโดนีเซีย และบราซิล  ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก มีจำนวนขยะพลาสติกในทะเลถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม  



The Ocean Cleanup


The Ocean Cleanup คือ นวัตกรรมตาข่ายเก็บขยะขนาดใหญ่ โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอแลนด์ในชื่อเดียวกัน ตัวนวัฒกรรมได้ทดสอบการใช้งานบริเวณแพขยะขนาดใหญ่ยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้วิธีการกวาดขยะ ด้วยการใช้ทุ่นตาข่ายลอยน้ำ ผูกติดกับเรือลากจูงสองลำ ที่จะแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 2.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ตัวตาข่ายที่ออกแบบมาเป็นพิเศษคอยกักเก็บขยะ 


หลังจากนั้นตาข่ายยักษ์จะถูกดึงกลับไปที่เรือ เข้าสู่กระบวนการแยกขยะ ก่อนจะนำขึ้นบกเพื่อกำจัดขยะตามประเภทต่อไป นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นที่สามารถทำงานร่วมกับโดรนคอยบินสแกนอยู่ในอากาศ ทำให้เรือแล่นไปดักขยะได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ทางองค์กรเผยว่าเจ้าตาข่ายนี้สามารถเก็บขยะได้มากถึง 25,000 กิโลกรัม และเก็บขยะได้ครอบคลุมความกว้างถึง 1,600 เมตร ลึกลงไปจากผิวน้ำ 4 เมตร 



WasteShark


WasteShark คือหุ่นยนต์เก็บขยะรูปแบบ Aqua Drone หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ปฏิบัติการในน้ำได้ พัฒนามาเพื่อใช้เก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง สามารถเก็บขยะทั่วไปและขยะพลาสติก ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดปานกลาง 


ตัวหุ่นมีน้ำหนักประมาณ 45 กิโลกรัม ยาว 161  เซนติเมตร กว้าง 114 เซนติเมตร ทีมผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากปากฉลามที่อ้ากว้าง ทำให้หุ่นยนต์ถูกออกแบบให้มีส่วนกรองด้านหน้าคล้ายกับซี่ฟันฉลาม และเป็นที่มาของชื่อเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ด้วย 


  • WasteShark สามารถสั่งการได้ด้วยรีโมทคอลโทรล 
  • ว่ายในน้ำได้นาน 7-8 ชั่วโมง 
  • เก็บขยะได้สูงสุด 500 กิโลกรัม 
  • เดินทางได้ไกลประมาณ 12 กิโลเมตร
  • มีระบบติดตามตำแหน่ง GPS 
  • เมื่อตัวหุ่นกินขยะจนอิ่ม จะเดินทางกลับไปยังจุดขนถ่ายขยะที่ชื่อว่า Shark pot เพื่อส่งไปคัดแยกและกำจัดต่อไป


WasteShark ถูกสร้างและพัฒนาโดยบริษัท Ran Marine ประเทศเนเธอแลนด์ มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 23,600 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 780,000 บาท



Great Bubble Barrier


หนึ่งในความท้าทายของการจัดการกับขยะ ก็คือกระแสน้ำที่อาจจะพัดพาขยะเหล่านี้ให้ไปติดตามซอกต่าง ๆ ดังนั้น บริษัทสตาร์ตอัปในประเทศเนเธอแลนด์ ก็เลยคิดค้นวิธีจัดการให้ง่ายขึ้น ด้วยการพัฒนาเครื่องสร้างกำแพงฟองอากาศเพื่อเบี่ยงเบนเส้นทางลอยขยะ ให้เข้ามาสู่จุดเก็บได้รวดเร็วยิ่งขึ้น


ส่วนหลักการทำงานจะใช้ท่อยางอากาศที่มีรู วางเป็นแนวเฉียงขวางอยู่ด้านล่างของแม่น้ำ จากนั้นปล่อยลมออกไปตามท่อ ทำให้เกิดฟองอากาศขนาดเล็กจำนวนมาก จนกลายเป็นกำแพงฟองอากาศขนาดใหญ่ เป็นแนวสกัดขยะที่ลอยมาตามแม่น้ำให้เปลี่ยนทิศไปสู่เครื่องจัดเก็บ โดยจุดเด่นของเครื่องสร้างกำแพงฟองอากาศอยู่ที่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับแม่น้ำลำคลอง


Great Bubble Barrier ได้ถูกติดตั้งในแม่น้ำกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าสามารถดักจับขยะลงได้ถึง 86%



TrashBoom


TrashBoom คือ นวัตกรรมแนวกั้นขยะ พัฒนาโดยบริษัท Plastic Fischer ของประเทศเยอรมนี เป็นแนวกั้นขยะที่มีหน้าตาคล้ายกับรั้วลอยน้ำ แต่ละยูนิตยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ครอบคลุมผิวน้ำลึกสุด 50 เซนติเมตร ตัวอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างห่วงขนาดใหญ่ ที่ปรับให้เข้ากับแม่น้ำขนาดต่าง ๆ ได้ไม่ยุ่งยาก


ขณะที่การติดตั้งก็สามารถทำได้ง่าย ด้วยการนำไปวางกั้นในพื้นที่แม่น้ำที่มีความเร็วการไหลต่ำ เพื่อให้กระแสน้ำพัดเอาเศษขยะต่าง ๆ มารวมกัน จากนั้นเศษขยะจะถูกรวบรวมไปยังโรงคัดแยก ซึ่งข้อดีของตัวแนวกั้นขยะลอยน้ำนี้ คือมันสามารถสร้างจากวัสดุที่หาได้ทั่วไป ใช้ต้นทุนต่ำ และซ่อมแซมได้ง่าย


 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง