รีเซต

ศิลปินแห่งชาติ เป็นแล้วได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

ศิลปินแห่งชาติ เป็นแล้วได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?
TeaC
20 สิงหาคม 2564 ( 19:26 )
920

กลายเป็น talk of the town แวดวงวงการวรรณกรรมเมื่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2554 ถือได้ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกที่ถูกถอด วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติให้มากขึ้น ทั้งการคัดเลือก สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ 

 

สำหรับ "ศิลปินแห่งชาติของประเทศไทย" หมายถึงศิลปินผู้มีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นที่ยอมรับของวงการ และมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปัจจุบันคือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มีการเริ่มจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา เชิดชูเกียรติ ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย ซึ่งการพิจารณาคุณสมบัตินั้น จะมาจากผลงาน

 

ส่วนการประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติ ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ" 

 

เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" ได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?


ทั้งนี้ คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการพิจารณาเชิดชูเกียรติบุคคลด้านศิลปะ มี 8 ประการ ได้แก่

 

  • (1) มีสัญชาติไทย
  • (2) มีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
  • (3) เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น
  • (4) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
  • (5) เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ
  • (6) เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
  • (7) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
  • (8) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”

 

ศิลปินแห่งชาติ เป็นแล้วได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง? 

 

ขณะที่ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม  ได้แก่

 

  • ค่าตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ 25,000 บาทต่อเดือน
  • ค่ารักษาพยาบาลว่าด้วยเงินสวัสดิการ (เว้นแต่มีสิทธิ์เบิกจากหน่วยงานอื่นโดยให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ)
  • ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง
  • ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง
  • เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท
  • เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท

 

ใครได้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" บ้าง?

 

และนับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ. 2528) ถึงประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2562 มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 319 ท่าน เสียชีวิตแล้ว 154 ท่าน และมีชีวิตอยู่ 165 ท่าน  ไม่ว่าจะเป็นศิลปินสาขาวรรณศิลป์, สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม, สาขาศิลปะการแสดง และสาขาทัศนศิลป์

ยกตัวอย่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

 

ปี พ.ศ. 2528 ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (วรรณศิลป์) ถือเป็นเป็นนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และเขายังเป็นน้องชายแท้ ๆ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และนอกจากรางวัลศิลปินแห่งชาติแล้ว

 

ปลาย พ.ศ. 2551 กระทรวงวัฒนธรรมเสนอชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก จากนั้นในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554 โดยได้รับการประกาศพร้อมกันกับเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2553 อีกด้วย

 

 

ถัดมาศิลปินที่มีชื่อเสียงในด้านงานเขียนนวนิยายไม่มีใครไม่รู้จักนามปากกา "กฤษณา อโศกสิน" ซึ่งเป็นนามปากกาของ "นางสุกัญญา ชลศึกษ์" โดยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ด้วยผลงานนวนิยายที่ชื่อว่า "วิหคที่หลงทาง" จากนั้นมีผลงานออกมาโลดแล่นให้คนอ่านได้หลงรัก ติดตามด้วยภาษาที่ทรงเสน่ห์เฉพาะตัว และได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. พ.ศ.2531

 

พ.ศ.2534 ศิลปินแห่งชาติในปีนี้คือเจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้น ชุด เหมืองแร่ ของนายอาจินต์ ปัญจพรรค์ และได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2548 เขียนบทและกำกับโดย จิระ มะลิกุล ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบประมาณสร้างสูงถึง 70 ล้านบาท แต่ล้มเหลวด้านรายได้ ฉาย 10 วันได้รายได้เพียง 19 ล้านบาท แต่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถึง 3 สถาบันจากรางวัลสุพรรณหงส์ ชมรมวิจารณ์บันเทิงและคมชัดลึก อวอร์ด 

 

และ พ.ศ.2538 ศิลปินแห่งชาติเจ้าของ "สำนวนเพรียวนม" นั่นคือ ณรงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ "รงค์ วงษ์สวรรค์" ที่นักอ่านทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ทั้งนักสะสมมือเป๋าและมือใหม่ ต่างตามล่าหาหนังสือของรงค์มาไว้ครอบครอง และนอกจากผลงาน เนื้อหาแล้ว ปกหนังสือของแต่ล่ะเล่มที่ถูกออกแบบมาแต่ละยุคสมัยนั้นชวนให้คอหนังสือตามเก็บ ซึ่งในแวดวงคนอ่านหนังสือยกผลงานของรงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผลงานที่ควรค่าแก่การตามเก็บสะสมไว้อ่าน ซึ่งเล่มที่ตั้งราคาไว้สูงที่สุด ราว 20,000 บาท คือ หนังสือพระราชทานเพลิงศพรงค์ วงษ์สวรรค์ 

 

ต่อมา พ.ศ. 2547 "ชาติ กอบจิตติ" เจ้าของผลงานอันโด่งดังอย่าง "พันธุ์มหาบ้า" "จนตรอก" "เวลา" "หมาเน่าลอยน้ำ" จากสำนักพิมพ์หอน คอหนังสือต้องรู้จักด้วยสไลต์ฮิปปี้ของน้าชาติ นอกจากผลงานด้านการเขียนแล้ว น้าชาติยังทำแบรนด์แฟชั่นที่ชื่อ "พันธุ์หมาบ้า" อีกด้วย

 

ปิดท้าย ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554 "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" เจ้าของนามปากกา "สิงห์สนามหลวง" และยังเป็นผู้ก่อตั้ง "รางวัลช่อการะเกด" มีผลงานด้านงานเขียนมากมาย กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" ศิลปินแห่งชาติ  และถือเป็นศิลปินคนแรกที่ถูกถอด

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง