รีเซต

ส่อง 9 นวัตกรรมจากงาน CES 2022

ส่อง 9 นวัตกรรมจากงาน CES 2022
Tech By True Digital
6 ธันวาคม 2565 ( 13:36 )
90.3K
ส่อง 9 นวัตกรรมจากงาน CES 2022

ในช่วงต้นปีแบบนี้ สำหรับบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นถือเป็นโอกาสของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้โลกได้รับรู้ผ่านงาน CES (Consumer Electronics Show) ประจำปีที่จัดโดยสมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภค (Consumer Technology Association) ซึ่งได้รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย โดยในปีนี้ Tech By True Digital พาไปทำความรู้จัก 9 ตัวอย่างนวัตกรรมสุดล้ำที่เราเลือกมาจากงาน CES 2022 ที่มีตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพ ไปจนถึงนวัตกรรมที่ท้าทายเทคโนโลยีใหม่ ๆ เลยทีเดียว

 

งาน CES หรือ Consumer Electronics Show เป็นหนึ่งในงานแสดงเทคโนโลยีเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งไม่เพียงเป็นการแสดงนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของแบรนด์ต่าง ๆ ที่อาจส่งสัญญาณแนวทางเทคโนโลยีของโลกเช่นกัน 

 

ที่มา:https://www.ces.tech

 

งาน CES ในปี 2022 กลับมาจัดงานในรูปแบบปกติที่อนุญาตให้ผู้แสดงงานและผู้ร่วมงานเข้าชมงานได้หลังจากที่ปี 2021 ได้จัดในรูปแบบดิจิทัลเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้ในปีนี้จะจัดให้เข้าชม แต่ก็มีการร่นเวลาของงานให้สั้นลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนช่วงปลายปี 2021 ก่อนเริ่มงานเพียงไม่กี่สัปดาห์ 

 

และเพราะโลกอยู่กับโควิด-19 มามากกว่า 2 ปีแล้ว เราจึงได้เห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปีนี้เน้นเพื่อการใช้ชีวิตกับโควิด-19 การดูแลสุขภาพ การอยู่อาศัยในครัวเรือน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่พลิกโฉมอุตสาหกรรม ตอบสนองเทรนด์ในปี 2021 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency NFT และการเตรียมพร้อมไปสู่ Metaverse

 

มาดู 9 ตัวอย่างนวัตกรรมสุดล้ำที่เราเลือกมาจากงาน CES 2022 กัน

 

 

1) รถยนต์เปลี่ยนสีได้จาก BMW iX Flow 

รถยนต์เปลี่ยนสีได้ของ BMW ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนสีตัวถังรถ E-Ink หรือหมึกอิเล็กทรอนิกส์แบบเดียวกับที่ใช้กับเครื่องอ่านหนังสือ E-book Kindle ซึ่งเพียงคนขับกดปุ่มก็สามารถปรับเปลี่ยนเฉดสีของตัวรถได้ 

BMW มองว่าการเปลี่ยนสีรถมีประโยชน์หลากหลายและรถไม่ได้จำเป็นต้องมีสีเดียวเสมอไป เมื่อเงื่อนไขของการใช้รถแตกต่างออกไป เช่น เปลี่ยนเป็นโทนสีเข้มเพื่อให้สามารถมองเห็นรถได้ชัดเจนในช่วงที่หมอกหนา เปลี่ยนเป็นสีขาว เพื่อลดความร้อนจากอุณหภูมิภายนอกจากแดดจ้าของบางประเทศหรือบางช่วงเวลาของวัน ซึ่งช่วยลดพลังงานที่ต้องใช้ในแอร์รถยนต์ ส่งผลให้ช่วยลดการสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ เป็นต้น 

 

ที่มา: https://www.bmw.com

 

2) รถแทรคเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบจาก John Deere

John Deere เปิดตัวรถแทรกเตอร์อัตโนมัติเต็มรูปแบบที่มาพร้อมระบบการไถ และระบบนำทาง GPS เพื่อการผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ โดยรถแทรกเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัตินี้มีกล้องช่วยให้สามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางได้ 360 องศาและคำนวณระยะทางของพื้นที่การเกษตรได้ ภาพที่ถ่ายโดยกล้องจะถูกส่งผ่านเครือข่าย Deep Neural ซึ่งสามารถจำแนกแต่ละพิกเซลได้ภายในเวลาเพียง 100 มิลลิวินาที  และสามารถกำหนดได้ว่ารถแทรคเตอร์จะเคลื่อนที่ต่อไปหรือหยุดเมื่อพบสิ่งกีดขวาง โดยที่เกษตรกรไม่ต้องขับเอง ทั้งยังช่วยในการวิเคราะห์หน้าดินเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรในการจัดการดินและพืชผลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเกษตรกรสามารถควบคุมรถแทรคเตอร์ด้วยการตั้งค่าการทำงานผ่านแอปพลิเคชันสั่งการรถแทรคเตอร์จากสมาร์ทโฟนของตนเอง ดูภาพการทำงานแบบเรียลไทม์ ปรับเปลี่ยนการตั้งค่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรให้เหมาะสมกับหน้างานได้ 

 

ที่มา: https://www.deere.co/autonomous-tractor

 

John Deere เชื่อมั่นว่ารถแทรคเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดครั้งสำคัญของวงการเกษตรโลก เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำฟาร์มเพื่อป้อนอาหารให้แก่โลก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการอาหารรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2050 ในขณะที่แรงงานภาคการเกษตรที่มีทักษะนั้นมีจำนวนลดลง ทั้งยังต้องทำงานผ่านตัวแปรต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป คุณภาพดินที่แปรปรวน วัชพืชและแมลงศัตรูพืช ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ส่งผลต่อความสามารถในการทำฟาร์มของเกษตรกรในช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งรถแทรคเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

 

3) แถบตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบดิจิทัล TestNpass รู้ผลใน 5 นาที

แถบตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบดิจิทัลนี้ทำงานด้วยการตรวจหาแอนติเจนในของเหลวจากร่างกายที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19  แล้วจึงบันทึกข้อมูลและเข้ารหัสการตรวจเชื้อไว้บน RFID Tag ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับการเข้ารหัสบัตรเครดิตของธนาคาร โดยจะบันทึกเวลาการตรวจหาเชื้อ ผลการตรวจแบบดิจิทัล และจดจำใบหน้าของผู้ตรวจเชื้อเอาไว้เพื่อทำหน้าที่รับรองความถูกต้องของข้อมูล แถบตรวจหาเชื้อ TestNpass สามารถบอกผลตรวจได้อย่างรวดเร็วภายใน 5 นาที จึงเหมาะกับการคัดกรองหาเชื้อในสถานที่ที่มีคนเป็นจำนวนมากและต้องการการคัดกรองอย่างรวดเร็ว อาทิ สนามบิน งานคอนเสิร์ต  สนามกีฬาและงานนิทรรศการ เป็นต้น โดย TestNpass ได้รับรางวัล Best of Innovation ในงาน CES 2022 จากนวัตกรรมนี้อีกด้วย

 

ที่มา: https://www.ces.tech/Innovation-Awards

 

4) หูฟังควบคุมด้วยความคิด (Mind-Controlled Earbuds) จาก Wisear 

หากเราเคยคิดว่าการสั่งงานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านเสียงนั้นล้ำสมัยแล้ว นั่นอาจเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเลยเมื่อเราสามารถควบคุมการใช้งานหูฟังได้ด้วยความคิดของตัวเอง โดยระบบจะออกคำสั่งเมื่อเราคิดที่จะเพิ่มระดับเสียง ข้ามไปยังเพลงแทร็กถัดไป หรือปิดเสียงทั้งหมด โดยการใช้เซ็นเซอร์และอัลกอริธึม AI เพื่ออ่านคลื่นสมองของผู้ใช้งาน โดยเมื่อคิดสั่งการอะไรที่เกี่ยวกับการใช้งานหูฟัง อิเล็กโทรดหรือขั้วไฟฟ้าในตาจะบันทึกการทำงานของสมองและใบหน้า จากนั้น AI จะแปลงสัญญาณเป็นตัวควบคุมหูฟังให้ทำงานตามความคิดของเรา Wisear ตั้งเป้าที่จะขายเทคโนโลยีควบคุมการสั่งงานด้วยความคิดนี้ให้กับผู้ผลิตหูฟังเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานนี้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ และวางแผนจะขายเทคโนโลยีนี้ในชุดหูฟัง AR และ VR อีกด้วย 

 

ที่มา: https://www.wisear.io/

 

5) หลอดไฟตรวจจับสัญญาณชีพ (Smart Health Monitoring Lights) จาก Sengled

หลอดไฟในห้องที่ไม่เพียงให้แสงสว่าง แต่มากับเทคโนโลยีเรดาร์ตรวจสอบการหายใจ ติดตามการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย สัญญาณชีพอื่น ๆ และการเคลื่อนไหวของเราในห้องนั้น ๆ ได้ โดยแตกต่างจาก Smart Wearable Device ทั้งหลายที่ต้องสวมใส่เพื่อจับสัญญาณชีพของผู้ใช้งาน และต้องชาร์จไฟบ่อย ซึ่งหลอดไฟนี้ยังสามารถตั้งค่าให้สามารถตอบสนองกับร่างกายของเรา อาทิ ปรับเป็นแสงสีขาวเพื่อปลุกในคืนที่นอนหลับไม่สนิท หรี่ไฟให้มืดลงเมื่อเอนตัวลงนอน เป็นต้น 

 

ที่มา: https://www.ces.tech/Innovation-Awards

 

6) อุปกรณ์ให้ความร้อนและความเย็นเสมือนจริง (Virtual-Reality Hot/Cold Simulator) จาก Shiftall

อุปกรณ์สวมใส่ในรูปแบบเสื้อเชิ้ตหรือเข็มขัดพยุง ชื่อ Pebble Feel ที่จะสร้างความร้อนและความเย็นบนโลกเสมือนกับโลกความจริงให้บรรจบกันได้ โดยเมื่อสวมใส่อุปกรณ์นี้ที่เชื่อมต่อกับแว่น VR แล้วตั้งค่าผูกกับอุณหภูมิบนโลกเสมือนที่เรากำลังโลดแล่นอยู่ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนเครื่องก็จะเกิดขึ้นตามอุณหภูมิในดินแดนโลกเสมือนนั้นกับตัวเราที่โลกจริง ซึ่งเครื่องทำความร้อนความเย็นนี้สามารถสร้างตั้งแต่ลมร้อนที่ 41 องศาเซลเซียสไปจนถึงอากาศหนาวที่ 8 องศาเซลเซียส ความพิเศษของเครื่องทำความร้อนความเย็นนี้ก็คือ แม้ไม่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ VR ก็สามารถให้ความร้อนเย็นเหมือนเป็นเครื่องปรับอุณหภูมิส่วนตัวเลยทีเดียว 

 

ที่มา: https://www.digitaltrends.com

 

7) เครื่องทำสีผมด้วยตัวเองที่บ้าน จาก L’Oréal

เครื่องทำสีผมอัตโนมัติรูปร่างหน้าตาคล้ายเครื่องหนีบผมผสมแปรงผมแบบไซไฟ ที่สามารถย้อมสีผมให้เราได้ภายใน 30 นาที ที่ต้องเรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่กลับเป็นเรื่องใหญ่ของหลายคนจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเลื่อนการทำสีผมที่ร้านออกไปก่อน และแม้ว่าจะซื้อสีแบบกล่องมาทำที่บ้านเองได้จริง แต่เครื่องทำสีผมจาก L’Oréal เครื่องนี้ทำได้มากกว่านั้น เพราะเครื่องนี้มีเฉดสีมากถึง 40 เฉดสีให้เลือกจากเว็บไซต์ โดยเมื่อทำการโหลดสีที่ต้องการและรอ 5 นาที เครื่องจะผสมและปล่อยสีออกมาอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็สามารถทำการแปรงผมตั้งแต่โคนจรดปลายผมทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วล้างออก เพื่อผลลัพธ์คือสีผมสม่ำเสมอและทั่วถึงเหมือนไปทำที่ร้าน

 

ที่มา: https://www.loreal.com

 

8) แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT ผ่านทีวี จาก Samsung 

NFT Aggregation Platform ออกแบบมาสำหรับสมาร์ททีวีของซัมซุง ให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT ได้โดยตรงจากหน้าจอทีวี โดยแพลตฟอร์มได้รวบรวมผู้ให้บริการซื้อขาย NFT หลากหลายเจ้า ที่ผู้ซื้อสามารถดูตัวอย่างผลงาน NFT ที่สนใจ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น ศิลปิน ครีเอเตอร์ หรือข้อมูลบล็อกเชนของผลงานชิ้นนั้น ๆ จากหน้าจอทีวีซัมซุง ที่มีเทคโนโลยี Smart Calibration รองรับการรับชมงานศิลปะ NFT สามารถปรับการตั้งค่าของทีวีโดยอัตโนมัติเพื่อให้สีของหน้าจอตรงกับผลงานดั้งเดิมที่ถูกสร้างสรรค์จากศิลปิน โดยภาพจะแสดงผลบนทีวีด้วยคุณภาพสูงที่สุด อีกทั้งผู้มีผลงาน NFT ก็สามารถแสดงคอลเลกชั่น NFT ของตนเองผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้เช่นกัน โดยแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT นี้จะมีให้บริการบนทีวีซัมซุงในรุ่น MicroLed, Neo QLED และ The Frame

 

ที่มา: https://ces.tech/Innovation-Awards

 

9) แผ่นแปะตรวจสุขภาพ (Biowearable) จาก Abbot

แผ่นแปะตรวจสุขภาพ Lingo จาก Abbott ที่มีเข็มเซนเซอร์ขนาดยาว 5 มิลลิเมตรแปะไว้ที่ต้นแขนนี้ จะช่วยให้ผู้สวมใส่ติดตามสัญญาณสำคัญของร่างกายและวัดผลสุขภาพโดยรวมของผู้ใช้งาน และให้ผลแบบเรียลไทม์ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด คีโตนในเลือด และแลคเตทในเลือด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทราบผลรวมสุขภาพ เพื่อนำไปวางแผนดูแลสุขภาพองค์รวมของตนเองได้ โดยแผ่นแปะจะทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันสุขภาพที่ให้ผู้ใช้ออกแบบสุขภาพเฉพาะของตัวเองได้ เช่น หากต้องการเผาผลาญไขมัน แอปจะแจ้งเตือนเมื่อระดับคีโตนในเลือดจากการอ่านค่าแผ่นแปะนี้ หรือแจ้งเตือนว่าอยู่ในระดับที่จำเป็นต้องควบคุมการรับประทานอาหารเพื่อให้สุขภาพเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ เป็นต้น

 

ที่มา: https://abbott.mediaroom.com



นี่เป็นเพียง 9 ตัวอย่างนวัตกรรมที่ Tech By True Digital เลือกมาจากงาน CES 2022 จากหลายพันชิ้น ที่ได้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ หากแต่เมื่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งาน อำนวยความสะดวกสบายให้ผู้คนและทำให้โลกดีขึ้นได้แล้วนั้น ย่อมถือว่าเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานอย่างแท้จริง 

 

_______________________



อ้างอิง:

https://ces.tech/

https://www.wired.com/story/best-of-ces-2022/ 

https://www.wsj.com/articles/best-of-ces-2022/

https://www.sciencefocus.com/news/future-tech-ces-2022/

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง