รีเซต

ทำความรู้จัก "อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก" ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป

ทำความรู้จัก "อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก" ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป
TNN World
25 พฤษภาคม 2564 ( 09:48 )
597
ทำความรู้จัก "อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก" ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป

Editor’s Pick: จากการบุกจับผู้เห็นต่างที่อุกอาจของทางการเบลารุส ทำให้ทั่วโลกสนใจไปที่ผู้นำของประเทศ "อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก" ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป

 

 

 

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก คือใคร?

 

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส คือผู้นำคนแรกของเบลารุส และยังครองอำนาจยาวนานสุดมากว่า 27 ปี แต่ในปีที่แล้ว เขาเผชิญการต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง หลังอ้างว่าชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมปี 2020 เพื่อเป็นประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 6

 

 

การอ้างชัยชนะของเขานำไปสู่การประท้วงของฝ่ายค้าน และประชาชนหลายแสนคนลงสู่ท้องถนน ทำให้มีการจับกุมผู้ประท้วงหลายพันคน

 

 

ลูคาเชนโกเคยเตือนด้วยว่า ใครก็ตามที่เข้าร่วมการประท้วงของฝ่ายค้าน จะถูกจัดให้เป็น “ผู้ก่อการร้าย”

 

 


บิดกฎหมาย ต่ออำนาจให้ตัวเอง

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ลูคาเชนโก ซึ่งมีอายุ 67 ปี เข้ามามีอำนาจตั้งแต่ปี 1994 และใช้แนวทางปกครองแบบเผด็จการที่ทำให้นึกถึงยุคของสหภาพโซเวียด โดยการควบคุมสื่อกระแสหลัก รวมถึงคุกคามและจับกุมนักการเมืองที่เห็นต่าง

 

 

ในปี 2004 เบลารุสจัดทำประชามติ ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกข้อกำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงสองสมัย จึงเป็นการปูทางให้ลูคาเชนโก สามารถปกครองเบลารุสต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

 

 

นอกจากนี้ เบลารุส ซึ่งแยกมาจากสหภาพโซเวียด ยังมีองค์กรตำรวจลับที่ทรงอำนาจ และปัจจุบันยังใช้ชื่อเรียกว่า KGB ทำหน้าที่จับตาความเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างอย่างใกล้ชิดด้วย

 


เผด็จการที่สนผลทางประชาธิปไตย

ลูคาเชนโก มีคู่แข่งทางการเมืองคือ สเวตลานา ติคานอฟสกายา ซึ่งเธอได้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย หลังสามีของเธอ ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ชื่อดัง ถูกตัดสินจำคุกและถูกห้ามลงรับสมัครเลือกตั้ง

 

 

ติคานอฟสกายา อ้างว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เธอได้คะแนนเสียงจากประชาชนถึง 60-70% ตามเขตที่มีการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างถูกต้อง แต่นายลูคาเชนโกกลับอ้างชัยชนะแทน และนางติคานอฟสกายาและนักการเมืองฝ่ายต่อต้านคนอื่น ๆ ก็ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

องค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป หรือ OSCE ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกตั้ง ระบุว่า ไม่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใดในระหว่างที่นายลูคาเชนโกดำรงตำแหน่งผู้นำ ที่มีการตัดสินอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม

 

 

Europe’s last dictator

นายลูคาเชนโก ชูจุดเด่นของเขาว่า เขาคือผู้ที่รับประกันความมั่นคงของเบลารุสได้ดีที่สุด เป็นผู้นำชาตินิยมที่ปกป้องประเทศจากการแทรกแซงของต่างชาติ

 

 

สาร์นเหล่านี้ดึงดูดชาวเบลารุสสูงวัย เพราะในอดีตที่ผ่านมา เบลารุสได้รับความเสียหายมากจากสงครามโลกครั้งที่สอง จนทำให้ต้องสูญเสียประชากรเกือบหนึ่งในสามของประเทศ จึงทำให้คนเบลารุสรุ่นเก่ามีความคลางแคลงใจในต่างชาติ และมีความภาคภูมิใจในกองทัพของชาติตน

 

 

ในปี 2005 รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เคยเรียกประเทศเบลารุสว่า เป็น “ประเทศเผด็จการที่แท้จริงประเทศสุดท้ายที่เหลืออยู่ในใจกลางยุโรป” ในขณะที่สื่อตะวันตก มักเรียกเขาว่า ‘Europe’s last dictator’ หรือผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป

 

 

ความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งแค้นกับรัสเซีย

แม้รัสเซียเป็นชาติพันธมิตรหลักของเบลารุส ทั้งสองประเทศ มีการซ้อมรบร่วมทางทหาร และเบลารุสยังพึ่งพาการค้ากับรัสเซียด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ

 

 

โอเล็ค ชูไปรนา จากศูนย์ศึกษายุโรปและยูเรเชียแห่งมหาวิทยาลัยเมย์นูธ (Maynooth University) ในไอร์แลนด์ระบุว่า ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปูตินและลูคาเชนโก มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนรักเพื่อนแค้น

 

 

ที่ผ่านมา เบลารุสได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรัสเซียมาก โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ในช่วงที่ลูคาเชนโกเผชิญกระแสต่อต้านในประเทศ เขาจึงมีทางเลือกเพียง ยอมสูญเสียอำนาจหรือพึ่งพารัสเซียมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีนักสำหรับเขา เพราะชาวเบลารุสที่ต้องการร่วมกับรัสเซียนั้นยังมีไม่มาก และรัสเซียเองก็ระวังท่าทีในเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดกระแสต่อต้านรัสเซียในเบลารุส ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ไม่สามารถปล่อยให้มีการโค่นอำนาจลูคาเชนโกได้เช่นกัน

 

 

เผด็จการสไตล์

ลูคาเชนโกได้เข้าพบนายปูตินเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วที่เมืองโซชิ ของรัสเซีย เพื่อขอความช่วยเหลือ และรัสเซียได้ปล่อยเงินกู้ให้เบลารุสเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้หนี้เจ้าหนี้ต่างชาติ และระบุว่า รัสเซียจะจัดส่งตำรวจไปให้หากได้รับการร้องขอ

 

 

เฉกเช่นเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ลูคาเชนโกยังคงหวนนึกถึงสหภาพโซเวียด และทั้งสองผู้นำ ยังเป็นนักเล่นไอซ์ ฮอคกี้ด้วย

 

 

ลูคาเชนโก เคยให้สัมภาษณ์ในปี 2003 ว่า เขายอมรับเสมอว่า การปกครองแบบเผด็จการคือสไตล์ของเขา “คุณจำเป็นต้องควบคุมประเทศให้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ทำลายชีวิตประชาชน”

 


—————
เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Sergei GAPON / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง