รีเซต

‘อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก’ ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป กับบทฮีโร่คลายวิกฤตกบฎแวกเนอร์ให้รัสเซีย

‘อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก’  ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป  กับบทฮีโร่คลายวิกฤตกบฎแวกเนอร์ให้รัสเซีย
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2566 ( 17:40 )
54

บทบาทของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส โดดเด่นขึ้นทันที หลังเขาทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่าง เยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำกลุ่มนักรบรับจ้างแวกเนอร์และฝั่งเครมลิน


บทบาทนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก สำหรับลูคาเชนโก ผู้ซึ่งปกครองเบลารุสมาตั้งแต่ปี 1994 และมีฉายาว่า “เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” ที่มีขึ้นชื่อเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่างและการประท้วงในประเทศของเขา



ลูคาเชนโก ได้อะไรจากเรื่องนี้


เมื่อคืนวันเสาร์ ที่ผ่านมา ลูคาเชนโก เผยว่า เขาทำหน้าที่เจรจาสันติภาพระหว่างแวกเนอร์และรัสเซีย โดยเขาโน้มน้าวพริโกซิน ผ่านการพูคุยทางโทรศัพท์หลายครั้งให้ยุติก่อการกบฏ และยังได้ให้คำแนะนำประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินไปว่า อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจทำอะไร จึงทำให้เกิดความถามว่า ลูคาเชนโก ได้อะไรจากเรื่องนี้


สำนักข่าวอัล จาซีรา วิเคราะห์ว่า ประการแรก ลูคาเชนโก ต้องการส่งสัญญาณไปยังประธานาธิบดีปูติน ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์เขาทั้งในทางการเมืองและการเงิน ได้เข้าใจว่า ปูตินขาดลูคาเชนโกไม่ได้ และลูคาเชนโกยังเป็นประโยชน์ต่อรัสเซียมาก


ประการต่อมา ลูคาเชนโกประกาศต้อนรับพริโกซินและนักรบรับจ้างแวกเนอร์ ซึ่งจะทำให้เบลารุสมีนักรบรับจ้างประจำการอยู่หลายพันคน ซึ่งหากพริโกซินและนักรบของเขาย้ายไปอยู่ที่เบลารุสจริง ก็จะทำให้ลูคาเชนโกมีกองทัพนักรบรับจ้างของตนเอง ซึ่งถือเป็นแรงหนุนในทางการเมืองของเขาด้วย


ทั้งนี้ สื่อออนไลน์ที่มีชื่อว่า เวิรสต์กา รายงานว่า ทางการเบลารุสได้เริ่มก่อสร้างค่ายสำหรับนักรบแวกเนอร์ 8,000 คน ในป่าที่ภูมิภาคโมกิเลฟ ซึ่งอยู่ติดชายแดนรัสเซียแล้ว และค่ายดังกล่าวอยู่ห่างจากกรุงมินสค์ เมืองหลวงของเบลารุสเพียง 100 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนทางตอนเหนือของยูเครนราว 200 กิโลเมตร


ประการที่สาม ลูคาเชนโกต้องการแสดงให้เห็นว่าเขามาเหนือ และแสดงให้บรรดาชาติอดีตสหภาพโซเวียตได้เห็นว่าเขายังเป็นคนกลางที่มีเล่ห์เหลี่ยม ที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ได้อย่างแหลมคม



เกือบ 3 ทศวรรษที่ต้องพึ่งพารัสเซีย 


ทั้งนี้ เกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา ลูคาเชนโกดูเหมือนยอมพึ่งพารัสเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแลกกับการที่รัสเซียช่วยปกป้องเบลารุสในทางการเมือง ลดราคาพลังงาน และช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ


ในขณะเดียวกัน ลูคาเชนโกเองยังมีความเจ้าเล่ห์พอที่จะไม่ยอมจำนนต่อรัสเซียมากเกินไป เช่น เขายอมให้รัสเซียย้ายขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์เข้ามาประจำการในเบลารุสและให้ใช้ผืนแผ่นดินเบลารุสเป็นทางผ่าน เพื่อเข้าไปบุกยูเครน แต่ลูคาเชนโกปฏิเสธที่จะส่งทหารเบลารุสเข้าไปช่วยรบในด่านหน้า


นอกจากนี้ ลูเคเชนโกยังเคยล้มโครงการบูรณาการสองชาติที่เรียกว่า Union State หรือ รัฐสหภาพรัสเซียเบลารุส ด้วย


ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ลูคาเชนโกและประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ของรัสเซียในเวลานั้นตกลงที่จะรวมสองประเทศเป็น “Union State” ซึ่งจะเป็นองค์การเหนือชาติที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐให้มากยิ่งขึ้นผ่านนโยบายในด้านเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ โดยลูคาเชนโกมองการณ์ไกลว่าจะได้ปกครองทั้งสองชาติ เพราะเยลต์สินนั้นมีปัญหาสุขภาพและติดแอลกอฮอล์


แต่ท้ายที่สุด ความใฝ่ฝันของลูคาเชนโกไม่เป็นจริง เพราะเยลต์ซินกลับแต่งตั้งปูตินเป็นทายาทในทางการเมือง และลูคาเชนโกตัดสินใจพับแผนรวมชาติไว้ก่อน


อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า ในวันนี้ ลูคาเชนโกได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องพริโกซิน ซึ่งสำหรับเขา นี่คือโอกาสในการฟื้นฟูอิทธิพลของเขาต่อรัสเซียเหมือนกับที่เขาเคยทำได้ในช่วงปลายทศวรรษ 90 นั่นเอง



ยกย่องผู้นำเบลารุส เป็น “รัฐบุรุษ“ 


ด้าน Channel News Asia เผยว่า หากไม่มีการสนับสนุนจากปูติน ระบอบของเบลารุสก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ ทั้งฝ่าย ทั้งปูตินและลูคาเชนโกนั้นไม่ได้ชอบกันมากนัก แต่ก็ยังต้องการมีกันและกันอยู่ ขณะที่ลูคาเชนโกเอง กล่าวว่า ไม่มีใครเป็นฮีโร่ในวิกฤตนี้ แต่ยอมรับว่า ชะตากรรมของเขาและเบลารุสนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีกับปูตินด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร (27 มิถุนายน) ที่ผ่านมา สภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย เปิดประชุมด้วยการกล่าวยกย่องลูคาเชนโกและปูติน ในขณะที่คืนวันจันทร์ (26 มิถุนายน) ปูตินแถลงขอบคุณลูคาเชนโกในความพยายามและการอุทิศตนแก้สถานการณ์อย่างสันติ


ด้านวลาดิเมียร์ โวลอฟยอฟ ผู้ประกาศข่าวชื่อดังของรัสเซีย ถึงขั้นกล่าวว่า ลูคาเชนโก ควรได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ของรัสเซีย ส่วนดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าวว่า ลูคาเชนโกคือรัฐบุรุษที่มีประสบการณ์มากและเฉลียวฉลาด ผู้ซึ่งปูตินชื่นชอบที่จะทำงานด้วยและมีสายสัมพันธ์ฉันเพื่อนอย่างมาก


ในฝั่งสื่อของเบลารุสเอง ซึ่งลูคาเชนโกมักกล่าวว่า เบลารุสเป็นชาติที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่เป็นแซนด์วิชระหว่างนาโตกับรัสเซีย มีการยกย่องลูคาเชนโกเช่นกัน ในฐานะผู้ช่วยชีวิตรัสเซีย บ้างก็ถึงขั้นกล่าวว่า เบลารุสได้กลายเป็นผู้สร้างสันติภาพให้แก่อารยธรรมสลาวิกไปแล้ว


แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง  

ภาพ: Getty Images




ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/news/2023/6/27/what-is-belarus-gaining-from-helping-quell-wagner

https://www.channelnewsasia.com/world/belarus-leader-lukashenko-russia-wagner-mercenary-mutiny-3590681

————

📲 อัพเดทข่าวไฮไลต์และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มาเป็นเพื่อนใน Line กับ TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt


ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Website : https://bit.ly/TNNWorldWebsite

Youtube : https://bit.ly/TNNWorldTodayYouTube

TikTok : https://bit.ly/TNNWorldTikTok

ข่าวที่เกี่ยวข้อง