สหรัฐฯ ทดสอบอุปกรณ์ยิงคลื่นไมโครเวฟต้านฝูงโดรนสำเร็จ
หน่วยปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา (Air Force Research Laboratory - AFRL) ได้นำเสนอวิธีการตอบโต้ภัยคุกคามใหม่ ๆ จากฝูงโดรน โดยใช้อุปกรณ์ยิงคลื่นยุทธวิธีต่อต้านโดรนพลังงานสูง THOR (Tactical High-power Operational Responder) เพื่อกำจัดโดรนหลายเป้าหมายในการโจมตีครั้งเดียว
ปัจจุบัน การสู้รบในยูเครนเผยให้เห็นว่า โดรนจะกลายเป็นแกนหลักของยุทธวิธีในสงครามสมัยใหม่ ไม่ใช่แค่เพื่อการลาดตระเวนหรือการโจมตีตามปกติเท่านั้น แต่ยังเป็นอาวุธสำหรับการสู้รบอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มว่า เทคโนโลยีโดรนในปัจจุบัน จะก้าวไปสู่จุดที่สามารถสร้างโดรนโจมตีในจำนวนที่มากเกินกว่าการป้องกันทางอากาศทั่วไปจะรับมือได้
จนกระทั่งมีการคิดค้นวิธีการต่อต้านโดรนใหม่ ๆ ขึ้นมา หนึ่งในแนวทางที่มีแนวโน้มว่าจะถูกใช้งานมากขึ้น คือการใช้คลื่นพลังงานโจมตี หรืออุปกรณ์ THOR ของหน่วยปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวอุปกรณ์จะถูกติดตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 6 เมตร ที่สามารถบรรจุในเครื่องบินขนส่ง C-130 ได้ และต้องการเพียงทหาร 2 นายในการติดตั้งภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย ซึ่งต้องการการฝึกอบรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ที่มาของรูปภาพ US Airforce
โดยหลักการทำงานของอุปกรณ์ THOR คือการยิงคลื่นไมโครเวฟพลังงานสูงระเบิดออกในบริเวณกว้าง เพื่อตอบโต้โดรนศัตรูที่เข้ามา โดยวิธีการนี้ไม่ได้ทำลายโดรนโดยตรงเหมือนการยิงด้วยเลเซอร์ แต่เป็นการทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในตัวโดรนสูญเสียความสามารถการส่งสัญญาณไฟฟ้า ทำให้ตัวโดรนพังลงไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยหลักการทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ ด้วยเหตุผลด้านความลับทางการทหาร
โครงการนี้ดำเนินการโดยเอริค พลัมเมอร์ (Eric Plummer) วิศวกรทดสอบของหน่วยปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา โดย THOR ถูกทดสอบที่ฐานทัพอากาศเคิร์ทแลนด์ รัฐนิวเม็กซิโก ภายใต้เงื่อนไขเสมือนจริง ด้วยการใช้ระบบเล็งแบบติดตามเป้าหมายในระดับหน่วยนาโนวินาที ปิดการใช้งานโดรนด้วยสัญญาณคลื่นไมโครเวฟกำลังสูงทั่วพื้นที่ท้องฟ้าของศูนย์ทดสอบ
อุปกรณ์ THOR ถูกสร้างด้วยงบประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 625,680,000 บาท ขณะที่ไทลาร์ แฮนสัน (Tylar Hanson) รองผู้จัดการโครงการ THOR เผยหลังจากการทดสอบว่า
"ด้วยการยิงระบบต่อเนื่องระหว่างการปะทะกับฝูงโดรน THOR แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอย่างมากในการโจมตี…และนี่เป็นการสาธิตครั้งแรก ที่ทำให้มั่นใจว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในการปกป้องบุคลากรของเราทั่วโลก"
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ US Airforce