รีเซต

จาก Made in China 2025 สู่ China Standard 2035 จีนในภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่

จาก Made in China 2025  สู่ China Standard 2035 จีนในภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2568 ( 15:21 )
19

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของจีนจาก “โรงงานของโลก” ไปสู่ “ผู้กำหนดทิศทางเทคโนโลยีโลก”
เบื้องหลังการเติบโตอันน่าทึ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากนโยบายที่ชื่อว่า Made in China 2025 ที่จีนประกาศใช้เมื่อปี 2015
นโยบายนี้ไม่เพียงยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ยังกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ พยายาม "ถอยห่าง" และลดการพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แล้วอะไรคือความสำเร็จของ Made in China 2025 และทำไมโลกถึงเริ่มมองจีนเป็นภัยคุกคาม? TNN Online พูดคุยกับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ถึงประเด็นนี้


10 ปี นโยบาย Made in China กับความสำเร็จที่ทำให้เกิดการพยายามถอยห่าง

10 ปีที่แล้ว หรือในปี 2015 อดีตนายกฯ หลี่เค่อเฉียงของจีน ได้ประกาศนโยบาย Made in China 2025 นโยบายที่จะพยายามยกระดับการผลิต และอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งผ่านมาหนึ่งทศวรรษ ผลของนโยบายทำให้เราได้เห็นจีนที่ไม่ได้กลายเป็นแค่โรงงานโลก แต่ยังเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าคุณภาพ ส่งไปทั่วโลก

อ.ปิติเล่าถึงเป้าหมายของนโยบายนี้ ที่จีนได้ตั้งเป้าไว้กับ 10 ภาคอุตสาหกรรม ทั้ง AI ทั้งที่เป็นข้อมูลโปรแกรม และหุ่นยนต์จับต้องได้, การบินอวกาศ, เทคโนโลยีในมหาสมุทร การเดินเรือ, ระบบรางความเร็วสูง, ยานยนต์พลังงานสะอาด, Internet of Things, เทคโนโลยีการเกษตร, เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์, พูดถึงเทคโนโลยีในเรื่องของชีวภาพ ไปถึงยา และการแพทย์ต่างๆ 

“10 ปีที่แล้ว วันนั้นจีนไม่ได้เป็นเจ้าเทคโนโลยีในเรื่องนี้ หลายๆ คนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจีนจะกลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในอุตสาหกรรมเหล่านี้ แต่พอเราเห็นภาพของการทํานโยบายอย่างจริงจัง แล้วก็ดึงเอารัฐวิสาหกิจ ดึงเอาภาคเอกชนของจีน ซึ่งแน่นอนก็มีล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการดําเนินนโยบายด้วย”

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

อาจารย์ได้ยกตัวอย่างบริษัทต่างๆ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักทั่วโลก ไม่ว่าจะอาลีบาบาในเรื่องของ e-commerce, หรือ AVIC (Aviation Industry Corporation of China) ทําเรื่องการบิน เครื่องบินไร้คนขับ ไปถึง Space technology, บริษัท BYD 

ยานยนต์ยักษ์ใหญ่ที่ก้าวหน้ามากในเรื่องยานยนต์ ไฟฟ้า และกําลังจะต่อยอดเป็น new energy vehicle ซึ่งก็จะมุ่งไปสู่เทคโนโลยีไฮโดรเจน มีรถไฟความเร็วสูง มี Huawei ทำเซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยี คลาวด์คอมพิวติ้งหรือแม้แต่ส่วนแบ่งตลาดในเรื่องของโทรศัพท์มือถือ พัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมา 

“เพราะฉะนั้นเราเห็นความก้าวหน้าเหล่านี้ แล้วก็มันเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า การทํางานอย่างแข็งขันของจีนทําให้จีนประสบความสําเร็จ แน่นอนในห้วงเวลาที่เริ่มต้น

ก่อนหน้านี้เราอาจจะมองเห็นภาพของสินค้าจีนเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ เป็นสินค้าราคาถูก แต่ว่าอาจจะเสียเร็ว ณ ปัจจุบันไม่ใช่ละ ณ ปัจจุบัน สินค้าจีนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูง ที่สําคัญราคาก็ไม่ได้ถูกด้วย แต่ว่าก็เข้าไปครองส่วนแบ่งตลาดได้ในหลากหลายพื้นที่ของโลก ขนาดมีมาตรการกีดกันทางการค้า มันก็ทําให้เห็นว่าเป็นเรื่องของการทํานโยบายไปสู่ความสําเร็จได้จริงๆ” 

แต่แม้เราจะเห็นความสำเร็จจากนโยบายของจีน แต่หลายๆ ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ต่างก็มีแนวคิดของการถอยห่างจากจีน หรือพยายามจะเลิกพึ่งพาจีน ซึ่งอาจารย์ปิติก็มองภาพว่า เป็นเพราะความหวาดกลัวโลกาภิวัฒน์

“ที่ผ่านมาโลกาภิวัฒน์ให้ประโยชน์กับทุกคน แต่เวลาเค้าพูดคําว่าทุกคน มันดันไปมองภาพเป็น เศรษฐกิจมหภาคในภาพใหญ่ อย่างเช่น ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่ระเบียบโลกเข้าสู่ยุคโลกโลกาภิวัฒน์เนี่ย สหรัฐฯ จีน ยุโรป เอเชียร่ำรวยขึ้นมหาศาล 

แต่ปัญหาก็คือความร่ำรวยมหาศาลนั้นกระจุกตัวอยู่กับคนแค่บางกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุด 1% หรือ 10% ไม่ได้เผื่อแผ่ลงไปจนถึงคนที่อยู่ในระดับกลาง-ล่างอย่างเต็มที่ 

เพราะฉะนั้นคนจํานวนนึง อย่างเช่นในสหรัฐฯ แรงงานผิวขาว การศึกษาไม่สูงนัก วัยกลางคนที่ยังทํางานอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า เค้ามองว่า ตลอดช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตเค้าไม่ได้ดีขึ้นในขณะที่มหาเศรษฐีร่ำรวยกันเละเทะเลย เพราะฉะนั้นเค้าก็เริ่มมองผู้นําที่มีลักษณะชาตินิยม คลั่งชาติที่ทํานโยบาย

ความยืดหยุ่นยั่งยืนของ supply chain หรือว่า supply chain resilience ซึ่งจริงๆ เป็นคําที่มีความหมายดีมาก หมายถึงว่าเราจะพึ่งพาต่างประเทศมากจนเกินไปไม่ได้ แต่ต้องพึ่งพากลไกการผลิตโครงสร้างการผลิตภายในประเทศ อยู่เพื่อความยั่งยืนและยืดหยุ่น

แต่แล้วแทนที่จะทําเพียงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและยืดหยุ่นมันกลับใช้ supply chain resilience มาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าแทน ซึ่งไม่ใช่แค่นั้น แต่เรายังเห็นแม้กระทั่งการใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นเครื่องมือทางด้านกีดกันทางการค้าด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วปัญหาของโลกาภิวัฒน์คือผลได้ทางด้านปริมาณ เศรษฐกิจมันใหญ่ขึ้น เค้กมันชิ้นใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาก็คือแทนที่เค้กชิ้นใหญ่จะกระจายกระจาย และทําให้ทุกคนได้กินเค้กมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าเค้กส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่ให้กับคนไม่กี่คน เพราะฉะนั้นปัญหาอยู่ที่การกระจาย ความเป็นธรรม และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหามันตีโจทย์ถูก แต่แก้ปัญหาผิด เลยกลายเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้”


สงครามการค้า ที่ทำให้เกิด 3 ห่วงโซ่อุปทานใหม่

นโยบาย และมาตรการที่ตามมาคือการย้ายฐายการผลิตจากจีน ซึ่งเราเห็นหลายประเทศได้ประโยชน์ทั้งเม็กซิโก หรือเวียดนามที่กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ๆ จนนำมาสู่คำถามที่ว่า วิธีการนี้ทำให้การเลิกพึ่งพาจีนเป็นไปได้จริงๆ หรือไม่ 

“ผมคิดว่าในระยะสั้นคงทําให้การค้าในรูปแบบที่เค้าเรียกว่า Trade diversion กับ Trade creation ชะงัก เมื่อเกิดสงครามการค้าในยุคทรัมป์สมัยแรก กับสงครามการค้าที่ต่อเนื่องมาในสมัยของโจ ไบเดน มันทําให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Trade diversion ก็คือมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับจีน เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจีนก็เลยไหลออกจากประเทศจีน ไปลงทุนในประเทศที่ 3 แล้วใช้ประเทศที่ 3 เนี่ยเป็นสปริงบอร์ดในการเข้าสหรัฐอเมริกา แน่นอนชื่อที่เราเห็นเยอะๆ ก็คือ แคนาดา เม็กซิโก เวียดนาม ไทย

เพราะฉะนั้นการค้าที่มันเกิดขึ้นในประเทศของเรา มันก็เลยกลายเป็นการค้าแบบที่เราเรียกว่า Trade creation มันถูกสร้างขึ้นมาจากการที่มันเกิด Trade diversion ตอนนี้ พอสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการอย่างที่ผมบอก คือตีโจทย์ผิด ไปทําสงครามการค้ากับทุกประเทศทั่วโลกแบบนี้ เราก็เลยเห็นภาวะการที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Trade creation ในประเทศเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Trade diversion ในตอนต้น 

ในระยะสั้นมันก็จะเป็นปัญหาที่การค้าการลงทุนทั่วโลกชะงัก ซึ่งชะงักต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มต้นปี 2025 จนมาถึงครึ่งปีแรกก็ยังอยู่ในช่วงที่ทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้ แล้วทุกอย่างดูเหมือนจะหยุดชะงักอย่างน้อยจนกว่าจะพ้นช่วงเวลา 90 วัน ที่สหรัฐฯ กําหนดไว้ใน การพูดคุย 

เพราะฉะนั้นช่วงนี้จะเป็นช่วงที่การค้าจะชะงักงัน แต่ถามว่ามันจะชะงักงันแล้วในที่สุดแล้วเนี่ย มันไปสู่จุดไหน ผมคิดว่าในที่สุดมันจะชะงักแล้วไปสู่จุดที่ทําให้ Global value chain แยกออกเป็น 3 ห่วงโซ่อุปทาน 

  1. ห่วงโซ่ที่นําโดยสหรัฐ และพันธมิตร

  2. ห่วงโซ่ที่นําโดยจีนและพันธมิตร 

  3. ห่วงโซ่ของประเทศอื่นๆ ที่เหลือ” 

อ.ปิติยกตัวอย่างว่า ได้มีบางประเทศ อย่างเช่นสิงคโปร์ที่ได้จริงจังในการวางบทบาทตัวเองในโลกแล้ว ซึ่งได้ประกาศว่าสิงคโปร์จะเป็น

โซ่ข้อกลางในการที่จะเชื่อมโยงความแตกแยกของ Global value chain เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะอยู่ให้รอดท่ามกลางห่วงโซ่มูลค่าที่มันแตกตัว “สิงคโปร์เป็นประเทศที่มองเห็นเรื่องพวกนี้ได้เร็วกว่าคนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไว และมีความพร้อมสูง ฉะนั้นเราเองก็คงจะต้องมองว่าแล้วเราจะวางตัวของเราในแบบไหน เพราะในที่สุดโลกมันก็คงจะแยกออกเป็น 3 ห่วงโซ่แบบนี้”

จีนที่จะกลายเป็นภัยคุกคามระยะยาวของสหรัฐ

แต่แม้ว่าตอนนี้ จีนกับสหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงทางภาษีเบื้องต้นกันไปได้ แต่ที่ผ่านมา เรามักเห็นความตึงเครียดจากสองประเทศเป็นประจำ ไม่ว่าจะยุคทรัมป์ หรือไบเดนเอง ซึ่งอ.ปิติเองก็ชี้ว่า ความตึงเครียดนี้มีทีท่าว่าจะไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่อาจจะอยู่อย่างถาวร

“ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศที่เค้าพัฒนาแล้ว เค้าจะมีการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ

แล้วนโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหนที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องดําเนินนโยบายนั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่ออกมาในเดือนธันวาคมปี 2017 กำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานไปอย่างต่ำๆ 20 ปี จากปี 2017 

เพราะฉะนั้นถ้าเค้ามองจากยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเป้าหมายยุทธศาสตร์อยู่ 4 ข้อ คือ

  1. การรักษาชีวิตคนอเมริกา, วิถีชีวิตคนอเมริกาและดินแดน มาตุภูมิอเมริกา เป็นเรื่องความมั่นคง

  2. สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา 

  3. สร้างแสนยานุภาพทางกองทัพของสหรัฐอเมริกา 

  4. รักษาความเป็นหรือเป็นมหาอํานาจขั้วเดียวที่มีศักยภาพในการจัดระเบียบโลกเป็นเจ้าโลก

แล้วเขาบอกว่าจีนคือประเทศเดียวในโลกที่มีความสามารถเพียงพอ มีศักยภาพเพียงพอ และมีความตั้งใจในการที่จะท้าทายทั้ง 4 เป้าหมายนี้ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง”

อาจารย์เล่าต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติยาวไป 20 ปี แต่ถึงอย่างนั้นทุกๆ 5 ปีต้องมีการทบทวน และพิจารณาว่าดำเนินยุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง ซึ่งในปี 2022 ในสมัยโจ ไบเดน ก็มีการรีวิวยุทธศาสตร์ชาติด้วยเอกสาร 50 หน้า ซึ่งก็ยังคงพูดถึงจีนมากกว่า 50 ครั้ง 

“แปลว่าคุณก็ยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องจีนมาก ถูกต้องไหม” อ.กล่าว “ดังนั้นการคอนเฟิร์มว่าจีนคือภัยคุกคามอันดับหนึ่ง มันก็ยังคงเกิดขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม”

ซึ่งอาจารย์ยังฉายภาพว่า เมื่อเอาเรื่องนี้ไปบวกกับความเหลื่อมล้ำ ทำให้ปัจจุบันกระบวนทัศน์ของคนอเมริกันเปลี่ยนไปแล้ว “คือเขามองว่า จีนคือศัตรู จีนคือคู่แข่ง เขามองว่าจีนคือภัยคุกคามไปโดยที่เค้าไม่ตั้งคําถามแล้ว ดังนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ ก็จะเป็นเรื่องระยะยาว จะดําเนินต่อไปแบบนี้ ควบคู่ไปกับการใช้สงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ สงครามเทคโนโลยี สงครามโลจิสติกส์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ต่อไป”


จาก  Made in China 2025 ถึง China Standard 2035 

แต่การจะลดการพึ่งพาจีน นั้นก็อาจจะเป็นไปได้ยากอย่างที่สหรัฐฯ ตั้งใจไว้ โดยอ.ปิติยังได้เล่าถึงแผนการเตรียมการของจีน หรือนโยบายหลัง Made in China 2025 ซึ่งก็คือ China Standard 2035 

“สงครามการค้าที่เราคุยกัน เริ่มมาตั้งแต่ 2017-2018 ดังนั้นปีนี้ปี 2025 เค้าเตรียมความพร้อมไว้ก่อนแล้วครับ สิ่งที่เค้าจะเดินหน้าต่อ และเป็นนโยบายของจีนสําหรับ 10 ปี ต่อจากนี้เค้าเรียกว่า China Standard 2035 จีนจะเป็นคนทําเรื่องมาตรฐาน

เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม คุณเป็นคนที่สามารถที่จะเซตมาตรฐานได้ คนอื่นๆ จะปฏิเสธการไม่ทำ ไม่ยอมรับ หรือไม่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับมาตรฐานเหล่านี้ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นจีนบอกว่าตั้งแต่ปี 2025 ถึง 2035 จีนจะทุ่มเทพละกําลังของชาติทั้งหมด ไปใน การที่จะทําให้จีนไม่ใช่แค่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด แต่จีนจะกลายเป็นเจ้าของ และร่วมกําหนดมาตรฐานอย่างน้อยที่สุดก็ใน 8 อุตสาหกรรมระดับโลก” 

โดยอาจารย์ชี้ถึง 8 อุตสาหกรรมนี้ว่าประกอบไปด้วย

  1. Information Technology คือ 5G, AI, Big data,  Blogchain, Cloud computing ซึ่งเขาเรียกว่า New Generation Information Technology 

  2. New energy ทั้งการสร้างพลังงาน และการจัดเก็บพลังงาน 

  3. New material วัสดุศาสตร์

  4. High end equipment คือ Smart device ต่างๆ ตั้งแต่ Robotics automation technology, Smart manufacturing system

  5. New energy vehicle ต่อยอดจากรถ EV ไปสู่พลังงานไฮโดรเจน

  6. Green environmental protection เรื่องของ Green transition, Green economy, Green environmental protection

  7. อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

  8. อุตสาหกรรมวิศวกรรมที่เป็นมหาสมุทร ตั้งแต่ต่อเรือ ไปจนถึงแท่นขุดเจาะน้ํามัน ไปจนถึงตัวของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในภาคพื้นมหาสมุทรทั้งหมด

อาจารย์ชี้ว่านอกจากการบอกว่าจะทํามาตรฐานใน 8 อุตสาหกรรมแล้ว จีนเข้าไปทํางานอย่างหนัก กับหน่วยงานจัดมาตรฐานระดับโลกด้วย และเมื่อเริ่มต้นให้ตัวเองกลายเป็นมาตรฐานจีน ไปเป็น 

มาตรฐานระดับนานาชาติ ก็จะทําให้ทุกคนไม่สามารถเลี่ยงที่จะใช้ของจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นรูปร่างบางอย่างเช่น Deepseek ที่เป็นมาตรฐานตัวแรกทางด้าน AI ที่จีนออกมา แล้วหลายประเทศยอมรับ 

ทั้งมาตรฐาน AI ของจีนแตกต่างจากมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ในเรื่องของการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นมาตรฐานของจีน “จีนมองว่าข้อมูลเป็นข้อมูลของสังคม ไม่ใช่ข้อมูลของส่วนตัว ดังนั้นข้อมูลของคนจีนพัน 400 ล้านคน รัฐบาลจีนพร้อมที่จะ

แลกเปลี่ยนฐานข้อมูลนี้กับบริษัทเทค บริษัทไหนก็ได้ที่ทางการจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนพึงพอใจ เพราะฉะนั้นจีนก็จะได้เปรียบเรื่องนี้ แต่เรื่องที่สําคัญที่สุดคือเรื่องของชุดคําสั่งที่ดีที่สุด”

นอกจากเรื่อง AI และรถยนต์ไฟฟ้าที่เราเริ่มเห็นมาตรฐานของจีนแล้ว อาจารย์ยังระบุถึง

ผลิตภัณฑ์ฟาร์มมาซูติคอล หรือยา ที่จะเป็นสิ่งที่จีนกำลังจะทำ และสร้าง

มาตรฐานของจีนให้ตีคู่กันมากับมาตรฐานของโลกตะวันตก

“แล้วในที่สุด ถ้ามันเปิดกว้างมากขึ้น มาตรฐานของจีนมันก็อาจจะกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับกันมากยิ่งขึ้น แล้วตอนนั้น คุณจะปฏิเสธมาตรฐานเหล่านี้ได้อย่างไร” อาจารย์ทิ้งท้าย 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง