รีเซต

นักเรียน ม.ปลาย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 87% กทม.เตรียมเปิดเรียนแบบ On-site

นักเรียน ม.ปลาย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 87% กทม.เตรียมเปิดเรียนแบบ On-site
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2564 ( 14:02 )
293

วันนี้ (17 ต.ค.64) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนที่มีอายุ 12-18 ปี ในโรงเรียนสังกัด กทม. และสังกัดอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำนักอนามัย ได้ประสานสำนักการศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา และกระทรวงสาธารณสุข จัดบริการให้วัคซีนไฟเซอร์ โดยส่งแผนจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับนักเรียน/นักศึกษา อายุ 12 -18 ปี ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาใน กทม. และมีความประสงค์รับวัคซีน รวมทั้งโรงพยาบาลที่จัดส่งวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้พิจารณาจัดส่งวัคซีน

 

ทั้งนี้ กทม. ได้สำรวจความประสงค์ในการรับวัคซีน พบว่ามีนักเรียนประสงค์รับวัคซีนจำนวน 33,048 คน จากทั้งหมด 37,466 คน คิดเป็นร้อยละ 88 โดยที่ประสงค์รับวัคซีนจำแนกเป็น มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 3,796 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64  จำนวน 3,284 คน คิดเป็นร้อยละ 87 สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 29,252 คน มีแผนจะฉีดวัคซีน ในวันที่ 18, 19, 20 ต.ค. 64 นี้  เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนต่อไป 

 

สำหรับบุคลากรทางการศึกษาที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จะดำเนินการให้ได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยใช้สูตรวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ระยะห่าง 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักการศึกษา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรและกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่โรงเรียนสถาบันการศึกษา

 

พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในโรงเรียน เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน รวมทั้งเน้นย้ำวิธีปฏิบัติตนหลังการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการงดออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ๆ ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนแนวทางการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของเด็กนักเรียนและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง

 

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการเปิดการเรียนการสอนแบบ On-site ในโรงเรียนสังกัด กทม. ระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2564 ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาและมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล Universal Prevention โดยดำเนินการ ดังนี้ 

 

1. สร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงเรียน อาทิ ครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ในการจัดพื้นที่การเรียนการสอนแบบ On-Site (ไป-กลับ) และวิธีจัดการเรียนการสอน เช่น สลับชั้นเรียน สลับเวลาเรียน 

2. เตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน สภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียน ให้มีความสะอาดและปลอดภัย โดยทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนทั้งหมดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ และจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาด 

3. นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร บุคลากรของโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้มาติดต่อราชการ ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 

4. จัดเตรียมสถานที่ของโรงเรียนให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะเรียนและที่นั่งอย่างน้อย 1 - 2 เมตร เพื่อลดความแออัดในสถานที่ต่าง ๆ โดยจัดการเรียนการสอนให้มีจำนวนนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน 

5. จัดตั้งจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า ของสถานศึกษา ควบคุมทางเข้า และทางออก โดยลงทะเบียนก่อน เข้า - ออก มีการบันทึกข้อมูลรายงาน

6. กรณีที่ผู้ปกครองมารับบุตรหลานที่โรงเรียน ต้องจัดพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียน 

7. มีระบบและแผนรับการประเมินความพร้อม โดยทีมตรวจราชการบูรณาการจากสำนักการศึกษา สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 

8. ครู บุคลากร และนักเรียน ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ 

9. นักเรียน ครู และบุคลากรต้องตรวจ ATK วันแรกของการเปิดเรียน และมีการสุ่มตรวจเฝ้าระวัง โดยขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

10. นักเรียน ครู บุคลากร ที่อยู่ในพื้นที่ Safety Zone ต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) อย่างต่อเนื่องทุกวัน 

11. ประสานสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินการสุ่มตรวจ ATK นักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา เพื่อเฝ้าระวังอย่างน้อยร้อยละ 10-20 จำนวน 2 ครั้ง/สัปดาห์ 

12. กรณีโรงเรียนพบนักเรียนที่สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) ให้แยกเด็กออกมาจากผู้อื่น แจ้งผู้ปกครอง และโทรแจ้งสายด่วนสุขภาพ 1646 ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ หรือโทรแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ตามเกณฑ์สอบสวนโรค 

13. ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 

14. นักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน เขียนบันทึก Timeline กิจกรรมประจำวัน การเดินทางเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ แต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ 

15. สถานประกอบกิจการ/กิจกรรม รอบรั้วสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน TSC+ COVID free setting

 

ข้อมูลจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง