รีเซต

มหาวิทยาลัยจีนสร้างหอตรวจสอบพลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบแห่งแรกของโลก

มหาวิทยาลัยจีนสร้างหอตรวจสอบพลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบแห่งแรกของโลก
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2565 ( 11:32 )
216

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยซีเตี้ยน เมืองซีอาน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เปิดตัวหอตรวจสอบและศึกษาพลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็มรูปแบบแห่งแรกของโลก โดยมีความสูงจากพื้นดิน 75 เมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขีดความสามารถในการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตกระแสไฟฟ้า การรับและส่งสัญญาณแบบไร้สายด้วยลำแสงไมโครเวฟ รวมไปถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์บนอวกาศในอนาคต 


โครงการวิจัยตัวหอตรวจสอบและศึกษาพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เริ่มต้นโครงการในปี 2014 โดยมีกระทรวงและคณะกรรมาธิการ 16 แห่ง รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนกว่า 130 คน ศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบหอตรวจสอบและศึกษาพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ 


ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสนใจการศึกษาพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น การใช้งานโซลาร์เซลล์เริ่มกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป อย่างไรก็ตามการใช้งานโซลาร์เซลล์บนโลกยังมีข้อจำกัดด้านปริมาณแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันและกลางคืน นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามศึกษาวิจัยเพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ  


ตัวอย่างเช่น ในปี 2012 ศาสตราจารย์จอห์น แมนคิน (John Mankins) ที่ได้รับการสนับสนุนจากนาซาเสนอแนวคิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ (Phased Array Space) โคจรบนอวกาศเพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรงบนอวกาศและส่งกลับมายังพื้นโลกด้วยแสงไมโครเวฟ  เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ในประเทศญีุ่่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย อังกฤษและฝรั่งเศสต่างให้ความสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 2014 เคยมีการเสนอโครงการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่บนอวกาศห่างจากโลกมากกว่า 384,500 กิโลเมตร เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและส่งกลับมายังโลกด้วยลำแสงไมโครเวฟ 


ในอนาคตการส่งกระแสไฟฟ้าแบบไร้สายอาจสามารถทำได้บนพื้นโลกและบนอวกาศ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในประเทศจีนเชื่อว่าหากประสบความสำเร็จในการศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบส่งกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ระบบกระแสไฟฟ้าถูกทำลาย ระบบจ่ายไฟฟ้าแบบไร้สายในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภารกิจด้านการทหาร เช่น ดาวเทียมด้านการทหาร เทคโนโลยีอาวุธพลังงานสูงบนอวกาศ เรือรบปฏิบัติหน้าที่ในมหาสมุทรห่างไกล เป็นต้น 


ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ news.xidian.edu.cn

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง