รีเซต

6 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตหุ่นยนต์ลงนามต่อต้านการใช้หุ่นยนต์เพื่อการทหารและสงคราม

6 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตหุ่นยนต์ลงนามต่อต้านการใช้หุ่นยนต์เพื่อการทหารและสงคราม
TNN ช่อง16
8 ตุลาคม 2565 ( 12:25 )
61
6 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตหุ่นยนต์ลงนามต่อต้านการใช้หุ่นยนต์เพื่อการทหารและสงคราม

หุ่นยนต์กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่พบเจอได้ในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือการใช้งานในฐานะผู้ช่วยในระบบอุตสาหกรรม ตลอดจนการใช้งานเพื่อความมั่นคง เช่น หุ่นยนต์กู้ระเบิด หุ่นยนต์รถถังขนาดเล็ก แต่ 6 บริษัทชั้นนำของโลกด้านการผลิตหุ่นยนต์กลับมองว่าประโยชน์ทางการทหารจะสร้างความเคลือบแคลงถึงคุณประโยชน์และสร้างความหวาดกลัวต่อหุ่นยนต์ จึงลงนามปฏิญาณเป็นจดหมายเปิดผนึกเพื่อต่อต้านการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา


5 บริษัทที่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรในครั้งนี้ได้แก่ อจิลิตี้ โรบอติกส์ (Agility Robotics) แอนี่บอติกส์ (ANYbotics) เคลียร์พาร์ธ โรบอติกส์ (Clearpath Robotics) โอเพ่น โรบอติกส์ (Open Robotics)  และ ยูนิทรี โรบอติกส์ (Unitree Robotics) โดยมีบริษัท บอสตัน ไดนามิกส์ (Boston Dynamics) เป็นแกนนำกลุ่ม รวมทั้งหมดเป็น 6 บริษัท โดยทั้งหมดต่างเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์แบบ 4 ขา (Quadruped Robot) ที่มีรูปทรงและการเคลื่อนไหวคล้ายสุนัข


พันธมิตรเปิดผนึกต้านการใช้หุ่นยนต์เพื่อการทหาร


ตอนหนึ่งในจดหมายเปิดผนึกกล่าวว่า “เราเชื่อว่าการติดอาวุธให้กับหุ่นยนต์เพื่อการควบคุมและสั่งการทั้งแบบระยะไกลหรือแม้แต่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงต่อสาธารณชน ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการใช้งานที่ผิดศีลธรรมอันร้ายแรงโดยปราศจากการสอดส่อง” รวมถึงยังกล่าวอีกด้วยว่าการติดอาวุธจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบโดยรวม ซึ่งจะทำลายโอกาสในการเข้าถึงคุณประโยชน์ที่ดีต่อส่วนรวมไป รวมถึงยังพาดพิงถึงคนบางกลุ่มที่เริ่มนำเอาหุ่นยนต์ (ซึ่งคาดว่าหมายถึงหุ่นยนต์ 4 ขา) มาดัดแปลงให้สามารถติดอาวุธได้ เป็นการเพิ่มความหวาดระแวงต่อคนส่วนใหญ่


ด้วยเหตุนี้ กลุ่มพันธมิตรจึงได้ทิ้งท้ายในแถลงการณ์ว่าจะไม่นำหุ่นยนต์เพื่อการใช้งานทั่วไปของพวกตนมาติดตั้งอาวุธหรือทำให้เป็นอาวุธ รวมถึงไม่สนับสนุนการนำระบบโปรแกรมภายในหุ่นยนต์มาดัดแปลงเพื่อการใช้งานในฐานะอาวุธโดยเด็ดขาด


เหตุการณ์ในครั้งนี้มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงปี 1980 ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางนิยมนำรถกระบะไฮลักซ์ (Hilux) ของแบรนด์โตโยต้า (Toyota) มาดัดแปลงเป็นรถติดอาวุธ ซึ่งทางค่ายรถก็ออกมาต่อต้านเช่นกัน จึงคาดว่าเหล่าผู้ผลิตหุ่นยนต์ทั้ง 6 บริษัท ต่างต้องการป้องกันสถานการณ์เช่นนั้นไม่ให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง


ที่มาข้อมูล Engadget

ที่มารูปภาพ Freepix

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง