รีเซต

โดรนกู้ภัยแผ่นดินไหว ฟังเสียงผู้รอดชีวิตใต้ตึกถล่ม

โดรนกู้ภัยแผ่นดินไหว ฟังเสียงผู้รอดชีวิตใต้ตึกถล่ม
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2566 ( 12:34 )
53
โดรนกู้ภัยแผ่นดินไหว ฟังเสียงผู้รอดชีวิตใต้ตึกถล่ม

หลังเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว หนึ่งกระบวนการสำคัญที่ช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมาก ก็คือการเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังให้ได้เร็วที่สุด แต่การค้นหาทางอากาศอาจจะทำได้ยาก เพราะถูกบดบังจากซากปรังหักพัง แต่ปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไขด้วยโดรนที่ชื่อลูซี่ (LUCY) เพราะมันสามารถค้นหาผู้รอดชีวิตได้ด้วยเสียง


ลูซี่พัฒนาโดยสถาบันเพื่อการสื่อสาร การประมวลผล และการยศาสตร์ ฟรอนโฮเฟอร์แห่งเยอรมนี (Germany's Fraunhofer Institute for Communication, Information Processing and Ergonomics) โดยลูซี่จะเป็นชุดไมโครโฟนระบบเครื่องกลไฟฟ้าขนาดเล็ก (MEMS หรือ micro-electromechanical system) ราคาไม่แพง ติดตั้งไว้ใต้โครงของโดรน


โดยชื่อของ LUCY ย่อมาจาก Listening system Using a Crow’s nest arraY (ระบบการฟังโดยใช้อาร์เรย์ของรังกา) ซึ่งรังกาหมายถึงจุดชมวิวที่สูงที่สุดบนเรือ สามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง ตรงกับคุณสมบัติของลูซี่ที่สามารถได้ยินเสียงจากทุกทิศทางโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ 


ในระบบเวอร์ชันปัจจุบัน จะมีไมโครโฟน 48 ตัว จัดเรียงในโดรนด้วยรูปแบบที่พิเศษ เพื่อให้สามารถตั้งค่าการรับเสียงที่เหมาะสมจนสามารถระบุแหล่งทิศทางของแหล่งกำเนิดเสียงได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ไมโครโฟนนี้ยังสามารถรับความถี่เสียงที่หูมนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้อีกด้วย

ที่มารูปภาพ Fraunhofer


นอกจากนี้ หน่วยประมวลผลของลูซี่ยังทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดังนั้น AI จะปิดกั้นเสียงรบกวน เช่น ลม เสียงอุปกรณ์กู้ภัย และเสียงโรเตอร์ของโดรน ในขณะเดียวกันก็จะค้นหาเสียงที่มาจากการขอความช่วยเหลือ เช่น เสียงตะโกน เสียงปรบมือ เมื่อกำหนดเสียงและกำหนดทิศทางที่มาของเสียงได้แล้ว ระบบจะถ่ายทอดพิกัดไปยังทีมงานภาคพื้นดินเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือได้ และถ้าหากไม่นำลูซี่ไปติดตั้งบนโดรน ก็สามารถที่จะให้ทีมงานภาคพื้นดินถือและใช้ไปพร้อมกันด้วยได้เช่นกัน ทั้งนี้บริษัทไม่ได้ให้รายละเอียดว่าสามารถฟังเสียงต่ำสุดได้ที่ระดับกี่เดซิเบล หรือไม่ได้บอกว่าระยะไกลสุดที่ไมโครโฟนยังรับฟังเสียงได้คือเท่าไหร่


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความสามารถเบื้องต้นของลูซี่ ทีมนักประดิษฐ์อยู่ระหว่างกำลังพัฒนาระบบเวอร์ชันถัดไป ซึ่งจะมีความสามารถมากขึ้น เพราะใช้ไมโครโฟนมากถึง 256 ตัวเลยทีเดียว นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก เมื่อเกิดภัยพิบัติก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจะสามารถลดความเสียหายต่อชีวิตได้อย่างทันท่วงที 


ที่มาข้อมูNewAtlas

ที่มารูปภาพ Fraunhofer

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง