รีเซต

ส่องนวัตกรรมด้านสุขภาพจากผู้พัฒนาต่างประเทศ | TNN Tech Reports

ส่องนวัตกรรมด้านสุขภาพจากผู้พัฒนาต่างประเทศ | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2566 ( 18:48 )
50
ส่องนวัตกรรมด้านสุขภาพจากผู้พัฒนาต่างประเทศ | TNN Tech Reports



หนึ่งในวงการที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากที่สุด คงหนีไม่พ้น วงการการแพทย์ เพราะต้องอาศัยความรู้วิทยาการใหม่ ๆ ในการต่อสู้กับโรคร้าย รวมไปถึงสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ที่ต้องการดูแลตัวเองได้ในยามเจ็บป่วย ไม่เป็นภาระให้กับคนรอบข้าง  ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับดูแลสุขภาพและร่างกายถูกผลิตออกมามากขึ้น 


จีนพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ


จีอาร์-วัน (GR-1)  ผลงานออกแบบของบริษัทในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีความสูง 164 เซนติเมตร น้ำหนัก 55 กิโลกรัม มันสามารถเดินได้ที่ความเร็วประมาณ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถหลบสิ่งกีดขวางได้ ถือสิ่งของได้หนัก 50 กิโลกรัม และทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ช่วยถือขวดได้


ตัวหุ่นยนต์ ออกแบบโดยบริษัท ฟูเรียร์ อินเทลลิเจนซ์ (Fourier Intelligence) โดยแรงบันดาลใจในการพัฒนา ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทอย่าง เซน โค (Zen Koh) มองว่า วิทยาการหุ่นยนต์เป็นสิ่งที่ลีกเลี่ยงไม่ได้ในการต่อสู้กับความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนผู้ดูแลไม่เพียงพอ  


เป้าหมายของบริษัทในตอนนี้ จึงเป็นการต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่ในที่สุดก็จะสามารถทำหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงไปยังรถเข็น หรือช่วยหยิบสิ่งของได้ รวมถึงอาจจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนแก่ไม่ให้เหงา หรือ เป็นนักจิตวิทยาประจำตัวได้ และบริษัทหวังว่าต้นแบบที่ใช้งานได้จริงจะพร้อมใช้ภายใน 2-3 ปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุที่หลายประเทศกำลังเผชิญ  


นวัตกรรมช่วยผู้พิการรับสัมผัส


แม้ว่าการแพทย์ปัจจุบันจะช่วยให้เรามีแขนขาเทียมมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไปได้ แต่เรื่องของระบบประสาทรับรู้ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้ ล่าสุดมีทีมวิจัยที่พัฒนาอุปกรณ์ช่วยให้รับรู้ถึงอุณหภูมิจากวัตถุที่แขนขาเทียมสัมผัส หวังต่อยอดให้สามารถรับรู้ได้คล้ายกับอวัยวะจริงมากขึ้น 


ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน หรืออีพีเอฟเอล (EPFL) พัฒนาอุปกรณ์สร้างระบบประสาทสัมผัสในอวัยวะเทียม เพื่อให้ผู้พิการสามารถรับรู้อุณหภูมิของสิ่งของต่าง ๆ ที่พวกเขาสัมผัสผ่านแขนหรือขาเทียมได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะความเย็นของน้ำ ไปจนถึงความร้อนของเตาไฟ  


โดยนักวิจัยได้ทำการทดลองเทคโนโลยีนี้ กับผู้พิการทางแขนหรือขาจำนวน 27 ราย เพื่อที่จะสร้างระบบประสาทสัมผัสในแขนขาเทียมให้เกิดขึ้น ด้วยการติดตั้งอิเล็กโทรดนำความร้อนไว้บนผิวหนังของผู้พิการในบริเวณส่วนของอวัยวะที่ขาดหายไป ทำให้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์ และสามารถใช้งานร่วมกับแขนขาเทียมแบบทั่ว ๆ ไปได้


หนึ่งในผู้เข้าร่วมทดสอบของโครงการ ซึ่งสูญเสียมือขวาจากอุบัติเหตุไปเมื่อ 25 ปีก่อนเล่าว่า เขาไม่ใช่แค่สามารถรับความรู้สึกเย็นหรือร้อนบนแขนเทียมของเขาได้เท่านั้น  แต่ยังรู้สึกด้วยว่ารับสัมผัสได้จากนิ้วไหน หรือจุดไหนของมือ ซึ่งจากการทดลองจะเห็นว่าเขาชี้ไปยังจุดต่าง ๆ บนมือเทียมที่วางอยู่บนโต๊ะได้ ว่าได้รับสัมผัสจากจุดไหน


นอกจากอุปกรณ์จะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมทดสอบรับสัมผัสความร้อนและเย็นได้แล้ว ยังช่วยให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสัมผัสของพลาสติก แก้ว และทองแดงได้อีกด้วย


ดังนั้นถ้างานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าในนอนาคตอันใกล้ ผู้พิการที่สูญเสียแขนขาไปจะสามารถกลับมารับสัมผัสจากตำแหน่งที่สูญเสียอวัยวะไปได้ และคงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อยที่พวกเขาจะสามารถจับมือกับคนที่รัก และสามารถรับไออุ่นซึ่งกันและกันได้อีกครั้ง


อุปกรณ์ยางยืดช่วยพยุงตัวผู้ป่วย


ฟุตโตะ (Futto) คือ อุปกรณ์ยางยืดช่วยพยุงตัวผู้ป่วยพักฟื้นและผู้พิการ รองรับการสวมใส่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อขาทั้งข้างซ้ายและขวา เป็นผลงานการออกแบบจาก โยชิฮิโร ยามาดา (Yoshihiro Yamada) นักออกแบบชาวญี่ปุ่น โดยได้แรงบันดาลใจจากการที่มีโอกาสได้ไปทำงานในบ้านพักคนชรา ได้ทำความเข้าใจลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้สูงอายุ และศึกษาเพิ่มเติมว่ากล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายที่ควรได้รับการเสริมให้แข็งแรง จนกลายเป็นที่มาของยางยืดช่วยพยุงตัวดังกล่าว


โดยอุปกรณ์ยางยืดฟุตโตะ มีน้ำหนักเบาเพียง 280 กรัม ประกอบด้วยเข็มขัดคาดหน้าท้องและสายรัดสองเส้นสำหรับขาทั้งข้างซ้ายและขวา โดยมีสายรัดด้านหน้าที่เกี่ยวใต้นิ้วเท้าของผู้ป่วย และสายรัดด้านหลังที่โอบรับฝ่าเท้า 


กลไลการทำงานของอุปกรณ์ยางยืด เริ่มจากผู้ป่วยยกขาขึ้นโดยการช่วยพยุงของยางยืด ในขณะเดียวกันเมื่อผู้สวมใส่กดเท้าลงกับพื้นก็ช่วยป้องกันการลื่นไถลหกล้มในขณะเดิน กล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะยกนิ้วเท้าขึ้นมาตามธรรมชาติเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม และเมื่อตั้งค่าแล้ว แถบยางจะเริ่มหดตัวทุกด้าน ทำให้เกิดแรงตึงและความยืดหยุ่นเหมาะสมกับท่าทางการเดินของผู้ป่วย โดยบริษัทยังได้เปิดเผยข้อมูลว่า ความดันที่เกิดขึ้นในช่องท้อง ขณะทำการเดินของผู้ป่วยมีส่วนช่วยให้เกิดการยืดตัวของกระดูกสันหลังและช่วยให้การเดินง่ายขึ้น


นอกจากนี้ อุปกรณ์ยังช่วยพยุงกล้ามเนื้อบริเวณก้นขณะทำการเดินไปพร้อมกัน การยืดหดของยางยืดช่วยทำให้การเดินรู้สึกเป็นธรรมชาติและเพิ่มระยะการก้าวให้ยาวขึ้น ลดจุดศูนย์ถ่วงลง ช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงก้าวไปข้างหน้าได้ดีมากขึ้น โดยผู้พัฒนาหวังว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะช่วยดูแลผู้ที่กำลังพักฟื้นหรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา รวมไปถึงในกลุ่มผู้สูงอายุ 


อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์ควรต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัดและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากตัวอุปกรณ์ได้ถูกวิธีและได้ประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนราคาวางจำหน่ายที่ปรากฏบนเว็บไซต์ตอนนี้อยู่ที่ชิ้นละ 33,000 เยน หรือประมาณ 8,000 บาท

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง