รีเซต

'พช.' ชื่นชม ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนดีเด่น 18 แห่ง ต้นแบบจัดการหนี้ ยั่งยืน

'พช.' ชื่นชม ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนดีเด่น 18 แห่ง ต้นแบบจัดการหนี้ ยั่งยืน
มติชน
17 เมษายน 2564 ( 17:05 )
56
'พช.' ชื่นชม ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนดีเด่น 18 แห่ง ต้นแบบจัดการหนี้ ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) เปิดเผยว่า จากการที่กรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดดำเนินการคัดเลือกศูนย์จัดการกองทุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ตามโครงการการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนโดยศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กิจกรรมที่ 3 ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการหนี้พร้อมทั้งส่งเสริมการประชาสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้ และสร้างความตระหนักในการปรับพฤติกรรมทางการเงิน จากเกณฑ์การประเมินการคัดเลือก ประกอบด้วย 3 ด้าน 20 ตัวชี้วัด ในด้านโครงสร้าง ด้านบริหารจัดการ ด้านผลสัมฤทธิ์ รวมถึงการพิจารณาการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ด้วย VDO Presentation จากผลการดำเนินงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชน เพื่อพิจารณาคัดเลือกศูนย์จัดการกองทุนชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด จากพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 45 จังหวัด สู่การคัดเลือกศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ระดับกรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 พบว่า ผ่านการพิจารณาคัดเลือกศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ระดับกรม จำนวน 18 แห่ง ดังนี้

 

1.ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านหนองแวงเรือ หมู่ที่ 7 ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
2. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านบอน หมู่ที่ 7 ตำบลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
3. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากทองหลาง หมู่ที่ 2 ตำบลชากบก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
4. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านหนองเม็ก หมู่ที่ 9 ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
5. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านนาฝาย หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกว้าง จังหวัดแพร่
6. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านสุขสวัสดิ์ หมู่ที่ 13 ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

7. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านวังเย็น หมู่ที่ 10 ตำบลนาดอกคำ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย
8. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านห้วยสิงห์ หมู่ที่ 1 ตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา
9. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านหนองคล้า หมู่ที่ 8 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
10. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านหนองมะจับ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
11. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านท่าม่วงใหม่ หมู่ที่ 11 ตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

12. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านไอร์เจี๊ยะ หมู่ที่ 5 ตำบลซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
13. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านโรงวัว หมู่ที่ 8 ตำบลเสือโฮก อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
14. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านเขาดินสอ หมู่ที่ 12 ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
15. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านทุ่งยาง หมู่ที่ 4 ตำบลท่าสะบ้า อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง
16. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านแก่งทุ่ง หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
17. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านถาวรสามัคคี หมู่ที่ 13 ตำบลหนองม่วง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว
18. ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านน้ำซับ หมู่ที่ 9 ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลดำเนินการคัดเลือกศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ระดับกรม ทั้ง 18 แห่งนี้ จะเป็นต้นแบบในด้านการบริหารจัดการหนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีการแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน ก่อให้เกิด “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” ส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงิน รู้จักการประหยัด อดออม และใช้จ่ายอย่างเหมาะสม สะสมเป็นทุนและหลักประกันในการลงทุน อีกทั้งยังเป็นภูมิคุ้มกัน ในการดูแลคุณภาพชีวิต ช่วยลดปัญหาหนี้สิน ทำให้กลุ่มมีเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจชุมชน เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ปั๊มน้ำมันชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนา เกิดการเรียนรู้ การจัดการเชิงธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย มีการนำผลกำไรไปพัฒนาชุมชนและจัดสวัสดิการของชุมชน ประสานงานและบูรณาการกองทุนต่างๆ ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำสู่การลดหนี้และปลดหนี้ แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

 

ปัจจุบัน กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2563 ผ่านกิจกรรมศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ “สำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้” เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงิน และสนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 90,360 ครัวเรือน งบประมาณรวม 189,709,200 บาท และสามารถบริหารจัดการหนี้ให้กับครัวเรือน เป้าหมายที่เข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา จำนวน 45,873 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.77 โดยสามารถลดหนี้ /ปลดหนี้ได้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 912,343,200 บาท โดยความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในระดับพื้นที่ ในโอกาสนี้ขอขอบคุณทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในระดับพื้นที่ อันได้แก่ คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนมาจากกลุ่ม/กองทุนต่าง ๆ ในชุมชน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนในชุมชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับเป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับภาคีการพัฒนา (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กศน., เกษตรฯ, สาธารณสุข, ตัวแทนสถาบันการเงิน (ธนาคาร) ฯลฯ) โดยทั้ง 3 ภาคส่วนล้วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ร่วมกันสร้างองค์ความรู้ให้ครัวเรือนเป้าหมายเกิดความตระหนักรู้ ถึงอันตรายของการขาดการออม ขาดการวางแผนการใช้จ่ายเงิน และขาดวินัยทางการเงิน มีการปรับพฤติกรรมทางการเงิน พร้อมส่งเสริมอาชีพที่สามารถยกระดับรายได้ของครัวเรือนเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นวิถีชีวิตต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง