รีเซต

SpaceX ทดสอบส่งยาน Starship ครั้งที่ 4 สามารถขึ้นสู่อวกาศและกลับลงสู่โลกได้สำเร็จ

SpaceX ทดสอบส่งยาน Starship ครั้งที่ 4 สามารถขึ้นสู่อวกาศและกลับลงสู่โลกได้สำเร็จ
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2567 ( 08:04 )
50

วันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทดสอบส่งยานสตาร์ชิป (Starship) ครั้งที่ 4 หรือเที่ยวบิน IFT-4 จากฐานปล่อยจรวดสตาร์เบส (Starbase) ชายหาด Boca Chica รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังได้รับการอนุมัติจาก FAA หรือองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา การทดสอบในครั้งที่ 4 นี้ ทิ้งช่วงห่างจากการทดสอบในครั้งที่ 3 นานประมาณ 3 เดือน

หลังปล่อยตัวขึ้นจากฐาน 02.44 นาที จรวดบูสเตอร์ซูเปอร์เฮฟวี (Super Heavy) ได้แยกตัวออกจากยานสตาร์ชิป (Starship) โดยจรวดบูสเตอร์ซูเปอร์เฮฟวีบินลงมาจอดบนผิวน้ำบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้สำเร็จ ส่วนยานสตาร์ชิป (Starship) ขึ้นสู่อวกาศ และกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกโดยกระบวนการ Re-entry บนชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นอีกครั้งที่แผ่นกระเบื้องป้องกันความร้อนของยานสตาร์ชิปถูกทดสอบในชั้นบรรยากาศโลก แม้ว่าปีกของยานสตาร์ชิปได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ยานสตาร์ชิปก็สามารถร่อนลงจอดบนผิวน้ำกลางมหาสมุทรอินเดียได้สำเร็จ

"ขอแสดงความยินดีกับทีมงาน SpaceX สำหรับความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่!!" อีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัท SpaceX โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับทีมงานบริษัท SpaceX ผ่านแพลตฟอร์ม X 

นอกจากนี้บริษัทยังได้เปิดเผยข้อมูลความสำเร็จอื่น ๆ ในการทดสอบครั้งที่ 4 เช่น การควบคุมปีกของยานขณะเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลก, การจุดระเบิดเครื่องยนต์ Raptor 3 เครื่องเพื่อชะลอความเร็วให้กับยานสตาร์ชิปลงจอดบนผิวน้ำกลางมหาสมุทรอินเดีย และระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ที่ติดตั้งบนยานสตาร์ชิปทำงานส่งข้อมูลการบิน ภาพความคมชัดสูง แบบเรียลไทม์ทุกขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ทดสอบยานสตาร์ชิป (Starship) มาแล้ว 3 ครั้ง 

การทดสอบครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในเดือนเมษายนปี 2023 จรวดทะยานขึ้นจากฐานปล่อยได้สำเร็จ แต่ระบบควบคุมการระเบิดของยานระเบิดตัวเองหลังจากบินขึ้นได้ 4 นาที เพื่อความปลอดภัยในการทดสอบ 

การทดสอบครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2023 ประสบความสำเร็จในการแยกตัวยานสตาร์ชิปออกจากจรวดบูสเตอร์ซูเปอร์เฮฟวี ก่อนระบบควบคุมการระเบิดของยานระเบิดตัวเองหลังจากบินขึ้นได้ 8  นาที 

การทดสอบครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2024 ประสบความสำเร็จในการแยกตัวยานสตาร์ชิปออกจากจรวดบูสเตอร์ซูเปอร์เฮฟวี แต่จรวดซูเปอร์เฮฟวีตกกระแสผิวน้ำอย่างรุนแรง ส่วนยานอวกาศสตาร์ชิปไม่สามารถผ่านกระบวนการ Re-entry บนชั้นบรรยากาศโลกได้ และระเบิดในชั้นบรรยากาศโลก

และสำหรับการทดสอบครั้งที่ 4 ของยานสตาร์ชิป (Starship) นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญให้กับการพัฒนายานอวกาศของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เพื่อทำให้ยานสตาร์ชิปกลายเป็นระบบขนส่งอวกาศที่สามารถใช้งานซ้ำได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้การขนส่งนักบินอวกาศและทรัพยากรขึ้นสู่อวกาศ วงโคจรของโลก ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และที่อื่น ๆ ในอนาคตใช้ต้นทุนที่ต่ำลง

กระบวนการหลังจากนี้บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จะรวบรวมข้อมูลการทดสอบทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมการทดสอบครั้งต่อไป ภายใต้เงื่อนไขและใบอนุญาตที่เข้มงวดจากทาง FAA หรือองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และให้ทันกำหนดการภารกิจอาร์เทมิส 3 ซึ่งบริษัทจะต้องพัฒนายานสตาร์ชิป (Starship) เวอร์ชันที่สามารถนำนักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้ภายในปี 2026



ที่มาของข้อมูล Space.com, Spacex.com 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง