รีเซต

เปิดกลยุทธ์ สู้โควิด 2 ค่ายโรงหนัง

เปิดกลยุทธ์ สู้โควิด 2 ค่ายโรงหนัง
TNN Wealth
31 สิงหาคม 2564 ( 21:27 )
1K

ข่าววันนี้ ในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งมาตรการปิดโรงภาพยนตร์ การเว้นระยะห่าง และการจำกัดที่นั่งได้เพียง 25% ทำให้รายได้ลดลงไปมาก โดยในปี 2563 ที่ทั้ง 2 ค่ายนี้มีกำไรสุทธิลดลงกว่า 500 ล้านบาท 

 


โดยจากการรวบรวมของธนาคารกรุงเทพ ได้เผยถึงแนวทางการเอาตัวรอดของธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านโรงภาพยนตร์ 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ เอสเอฟ ซีเนม่า พบว่าในฝั่ง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ตัดสินใจพลิกสถานการณ์จากที่ผู้ใช้บริการจะเข้ามาในโรงภาพยนตร์ มาเป็นการนำความบันเทิงในโรงภาพยนตร์ออกนอกพื้นที่ เพื่อไปหาผู้ใช้บริการแทน

 


เริ่มจากการนำเอาวัฒนธรรมป็อปคอร์นออกให้บริการในชื่อ “Major Delivery” ส่งถึงที่ผ่านแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่างแกร็บ ฟู้ด,ไลน์แมนxวงใน และฟู้ดแพนด้า จาก 5 สาขาสแตนด์อะโลน เช่น ปิ่นเกล้า, สุขุมวิท-เอกมัย, รัชโยธิน, รังสิต, งามวงศ์วาน-แคราย เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้บริโภคไม่ลืมโรงภาพยนตร์ แม้ว่าจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านก็ตาม

 


นอกจากนี้ เมเจอร์ ยังประคับประคองรายได้จากสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนรายได้ 15% จากรายได้ทั้งหมด โดยปรับรูปแบบให้เป็น Performance Media เพื่อตอบโจทย์ให้มากกว่า Brand awareness แต่เพิ่มยอดขายได้โดยตรงและรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์ On Ground Activation ในลักษณะผสมผสานภาพยนตร์เข้ากับความบันเทิงรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับการชมภาพยนตร์ในสถานทีที่แปลกใหม่

 


เช่น ในเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งจัดกิจกรรม Amazing Thailand Major Cineplex Drive-in Theater : Haunted Park presented By Toyota โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง โตโยต้า ซึ่งเป็นการรับชมภาพยนตร์เรื่อง ‘สวนสนุกนี้ผีจองเวร’ โดยก่อนชมจัดกิจกรรมเปิดสัมผัสที่หกรับประสบการณ์สยองขวัญ แม้นั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนตัวภายใต้บรรยากาศสวนสนุกสุดสยอง และตื่นเต้นกรีดร้องไปกับการโจมตีจากพวกผีที่อยู่นอกรถ

 


หรือก่อนหน้านี้ที่เมเจอร์ได้จัดกิจกรรม Major Cineplex Drive-In Theater @CentralFestival EastVille Drive-in หรือ Chang-Major Movie Playground ในตอน Oversize ความสุขมาสนุกกับเพื่อนนี้ ณ มายา สเปซ พัทยา รวมถึง “Chang-Major Movie on the Beach” และ “Chang-Major Movie on the Hill” ที่เมเจอร์ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการร่วมกิจกรรมจะจำหน่ายสินค้าหรือสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างแบรนด์ที่เข้ามาสนับสนุน

 


เปิดโมเดล 3T Strategy ลด“เสี่ยง”จากความไม่แน่นอน


สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เมเจอร์เรียนรู้ถึงความไม่แน่นอน ดังนั้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในปี 2564 “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป” ได้ประกาศ Business Model ใหม่ด้วยกลยุทธ์ “3T” เพื่อผลักดันให้การเติบโตให้กลับมาโตแบบ “V Shape” ประกอบด้วย

 


1. Thai Movie ขยายการลงทุนในภาพยนตร์ไทย ซึ่งเมเจอร์มีฐานธุรกิจด้าน Content Provider ด้วยการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์อยู่แล้ว และคอนเทนต์เหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดขายในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ ซึ่งทั้งสองช่องทางจะทำให้เมเจอร์มีฐานรายได้จากส่วนแบ่งกำไรในฐานะผู้สร้าง ซึ่งจะเข้ามาเสริมรายได้หลักจากการขยายตั๋วชมภาพยนตร์ โดยปี2564 จะผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 20 กว่าเรื่อง จาก 6 ค่ายจากที่ผ่านมาผลิตปีละ 10–12 เรื่อง

 


2. Technology ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Major 5.0 เพื่อยกระดับองค์กรสู่ “Total Digital Organization” จะลงทุนไม่ต่ำกว่า 100–200 ล้านบาท ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์บริการแบบไร้สัมผัส เช่น การนำตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E Ticket พัฒนาขึ้นมาใช้เป็นรายแรก และเตรียมต่อยอดสู่การเป็น Seamless Ticket ด้วยการซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชั่น และนำมาสแกนที่ตู้เพื่อเข้าชมภาพยนตร์ได้ทันที

 


พัฒนาบัตรเงินสด M Cash เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงการชมภาพยนตร์ได้ง่ายขึ้น โดยเปิดขายตั๋วผ่านพาร์ทเนอร์ ทุกธนาคาร และระบบ Payment ต่างๆ พร้อมกับยกระดับแอปพลิเคชันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ให้เป็น Super App เพื่อเป็นช่องทางขายตั๋วผ่าน Mobile Ticketing 100% ทั้งนี้เพื่อปรับสู่ Cashless ทั้งระบบรวมถึงนำระบบ AI & ML ในลักษณะ Movie Recommendation Engine เข้ามาพัฒนาโปรโมชั่นที่ตรงในแบบ Personalization หรือ One-on-One Offering เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกัน เป็นต้น

 


3. Trading หลังจากทดลองจำหน่ายป๊อปคอร์นในช่องทาง Delivery ในงานอีเว้นท์และมาร์เก็ตเพลสอย่างช้อปปี้ ทำให้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มองถึงการข้ามไลน์เข้าสู่ค้าปลีก ด้วยการเปิดตัว “ป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR” 3 รูปแบบคือ แบบซอง, แบบเข้าไมโครเวฟ, และป๊อปคอร์นบรรจุกระป๋อง โดยจะจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากป๊อปคอร์นมีกว่า 30% จากรายได้รวมของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยปี 2562 มียอดขาย 2,000 กว่าล้านบาท จากช่องทางเดียวคือโรงภาพยนตร์ 172 สาขา

 


SF สู้ภัย COVID-19 ทำโรงหนังให้อยู่ในไลฟ์สไตล์


สำหรับเอสเอฟ ซีเนม่า ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองในธุรกิจโรงภาพยนตร์ ตัดสินใจสู้กับอุปสรรคครั้งใหญ่ ด้วยการทำให้โรงภาพยนตร์ยังอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรักภาพยนตร์ เช่น ส่งป๊อปคอร์นเดลิเวอรี่, เปิดช็อปจำหน่ายสินค้าจากภาพยนตร์ยอดนิยม, พัฒนาแอปพลิเคชันตอบโจทย์เพื่อให้การชมภาพยนตร์สะดวก ปลอดภัย จองได้ทุกที่ทุกเวลา และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ดูหนังในรถยนต์ หรือในสถานที่ใหม่ 

 


ขณะที่ช่วงการกลับมาขายที่นั่งได้เพียง 25% เอสเอฟใช้ทุกวิธีที่จะดึงผู้บริโภคกลับเข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการยืนระยะฉายให้นานเป็นเดือนจากเดิม 2 สัปดาห์ ส่วนจำนวนรอบฉายลด 2 รอบต่อวัน จาก 4-5 รอบต่อวัน หรือการนำภาพยนตร์เก่าซึ่งหาดูยากกลับมาฉาย เพื่อดึงคนที่ไม่ได้ดูหนังในโรงภาพยนตร์มานานกลับมาดูอีกครั้ง

 


สร้างประสบการณ์ใหม่แบบ SF ต้อง WIN-WIN


กลยุทธ์ของเอสเอฟที่ส่งให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง คือความแตกต่าง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการชมภาพยนตร์ ขนานไปกับการใช้การตลาดแบบ Naming Sponsor เช่น Emprive Cineclub, CAT First Class Cinema, MasterCard Cinema, Zigma CineStadium, Happiness Cinema และ MX4D ซึ่งจะตอบโจทย์แบบ win-win ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และพันธมิตร

 


ล่าสุดเปิดประสบการณ์นอนชมภาพยนตร์ใน The Bed Cinema by Omazz ที่เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนำเตียงนอนคุณภาพสูงมาใช้ในโรงภาพยนตร์ และออกแบบให้มีบรรยากาศเสมือนพักผ่อนอยู่ในบ้านสไตล์ Modern Luxury เริ่มจากให้บริการเลานจ์ ในอารมณ์ของห้องนั่งเล่น บริการเครื่องดื่ม ป๊อปคอร์น ก่อนเข้าชม

 


โดยภายในโรงภาพยนตร์มี 40 เตียงนอน เพื่อความเป็นส่วนตัวที่สุด มีขนาดเตียงให้เลือก รวมถึงออกแบบตำแหน่งมุมมองให้เหมาะสมกับการชมภาพยนตร์ทุกที่นั่ง คิดค่าบริการเริ่มต้น 900 บาทโดยทุกรอบฉายจะมีการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนเพื่อความสะอาด ปลอดภัย ควบคู่กับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงภาพยนตร์ตามมาตรฐานสากล

 


นอกจากนี้จัดให้มีโมเดลพิเศษรูปแบบต่างๆ ร่วมพันธมิตร เช่นร่วมกับเดอะมอลล์จัด “Pool Cinema Party” สร้างประสบการณ์ชมภาพยนตร์กลางน้ำบนสวนน้ำชั้นดาดฟ้าครั้งแรกในไทย ในภาพยนตร์เรื่อง “Happiest Season ไม่มีฤดูไหนไม่รักเธอ” จากที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom) จัด “CAT Drive-in Cinema”

 


นับเป็นกลยุทธ์ที่สู้กันอย่างสนุกและสร้างสรรค์ และภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ยิ่งทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์จะต้องมีการปรับแผน ปรับกลยุทธ์เฉพาะหน้าให้สามารถรักษาตลาด และยังต้องครองใจผู้บริโภคให้ได้ ถือเป็นอีกปีที่มีความยากลำบากพอสมควรสำหรับธุรกิจนี้ 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง