รีเซต

"ธนาคารอาหาร" สะพานบุญส่งต่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ให้กลุ่มคนเปราะบาง

"ธนาคารอาหาร" สะพานบุญส่งต่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ให้กลุ่มคนเปราะบาง
TNN ช่อง16
9 กันยายน 2567 ( 15:10 )
19
"ธนาคารอาหาร" สะพานบุญส่งต่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ให้กลุ่มคนเปราะบาง

 

กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ BKK Food Bank หรือ ธนาคารอาหาร เพื่อเป็นตัวกลางในการรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค จากผู้ที่อยากแบ่งปันและนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน โดยอาหารที่รวบรวมได้จะจัดไว้เป็นที่เก็บของคล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อ และให้กลุ่มผู้เปราะบางที่อยู่ในฐานข้อมูลของแต่ละเขตมาเลือกของที่ต้องการ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำแต้มที่เขตมอบให้มาแลกของที่ต้องการ

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดธนาคารอาหาร ที่เขตสะพานสูง ทำให้ให้ปัจจุบัน กทม.มีธนาคารอาหาร ครบแล้วทั้งหมด 50 เขต ซึ่งในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ตกงาน รวมถึงผู้ประสบภัย ที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน และขยะที่มาจากอาหารคิดเป็นร้อยละ 50 ของขยะทั้งหมด กทม. ดังนั้นการมีธนาคารอาหารนอกจากได้ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ให้กลุ่มเปราะบางด้วย



 
 ปัจจุบัน BKK Food Bank สามารถส่งต่ออาหารบริจาคได้ กว่า 4 แสน 4 หมื่นกิโลกรัม หรือนับเป็นมื้อได้ กว่า 1 ล้าน 8 แสนมื้อ ถึงมือผู้รับซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางแล้ว รวม 5,330 ราย จากข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กว่า 23,000 ราย กลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุร้อยละ 36 ประชาชนผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 33 เด็ก ร้อยละ 12 ผู้ด้อยโอกาสร้อยละ 6 คนพิการร้อยละ 5 เด็กในศูนย์เด็กเล็กฯร้อยละ 4 ผู้ป่วยติดเตียงร้อยละ 3 และคนไร้บ้านร้อยละ 1 
 
 ประเภทอาหารที่มีน้ำหนักมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เบเกอรี่ 
 อาหารปรุงสุกพร้อมทาน ข้าว  ผักและผลไม้ และน้ำเปล่า  คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ กว่า 1 ล้าน 1 แสนกิโลคาร์บอน (CO2e)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง