รีเซต

มูดี้ส์ “มองมุมลบ” ลางร้ายศก.ไทย?

มูดี้ส์ “มองมุมลบ” ลางร้ายศก.ไทย?
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2568 ( 10:36 )
22

กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อ Moody’s  รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ( 29 เมษายน 2568)   โดยได้คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ Negative Outlook  นับเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี  หรือตั้งแต่ธันวาคม 2551 ในช่วงของวิกฤตการเงินโลก หรือ วิกฤต Subprime  (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์)  

การปรับมุมมองความน่าเชื่อถือเป็นลบครั้งนี้ ประเด็นที่ Moody’s เป็นกังวลคือ “การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย” ยังช้ากว่าประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (Peers) นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และเศรษฐกิจไทยยังคงมีความอ่อนไหวต่อการรองรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อาทิ การจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในระดับสูง 

และสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้กระบวนการเข้าสู่ความสมดุลทางการคลังของไทยล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรอบวินัยการคลังระยะปานกลาง ที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางความท้าทายเชิงโครงสร้าง ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้า ด้านประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของผลิตภาพการผลิต (Productivity Growth) ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะที่ นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มองว่าการปรับลดมุมมอง (Outlook) ความน่าเชื่อถือของ Moody’s เป็นตามรอบการออกรายงานประจำปีในรอบทุก 12 – 18 เดือน โดยรอบนี้เป็นการปรับลด Outlook จาก Stable เป็น Negative ครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือตั้งแต่ปี  2551  ในช่วงนั้น Outlook ของไทยถูกปรับลดลงเนื่องมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และเหตุความไม่สงบทางการเมือง แต่หลังจากนั้นไทยใช้เวลา 2 ปีกว่าก็กลับมาที่สถานะ Stable อีกครั้ง และได้รับการปรับขึ้นเป็น Positive ในเดือนกรกฎาคม 2562 ก่อนจะถูกปรับลดลงเป็น Stable อีกครั้งในเมษายน 2563 

นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่ Moody’s  กังวลว่าเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) มีความล่าช้านั้น  รัฐบาลได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ลดภาระทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว รวมถึงเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในการรองรับเหตุการณ์ผันผวนในอนาคตได้อย่างเพียงพอ

"หากในปีนี้  GDP ปรับลดลงเหลือร้อยละ 2  หนี้สาธารณะจะแตะเพดานร้อยละ 70 ในปี 2570  และ แต่ยืนยันว่าการเติบโตของ GDP ในระดับนี้เรายังสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้" ผู้อำนวยการ สบน. และว่ายังต้องมีการปรับแผนการคลังระยะปานกลางให้สอดคล้องกับความเป็นจริงต่อไป 

ทั้งนี้ ตามแผนการคลังระยะปานกลางที่จัดทำไว้ในช่วงเดือน ก.พ. 2568  ก่อนจะมีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ  ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า GDP ไทยปี 2568  จะเติบโตที่ร้อยละ 3  และปี 2569 คาด GDP จะเติบโตที่ร้อยละ 2.9-3.0  ซึ่งภายใต้การเติบโตของ GDP ในระดับนี้หนี้สาธารณะอีก 4 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ 69 ต่อ GDP 

สำหรับข้อมูลหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย ณ เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 64.42

ด้าน “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร”  นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand’ ที่จัดโดยทาง  TNN 16  ได้กล่าวถึงกรณีที่ Moody’s ออกมาปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยว่า  “ถือเป็นเพียงมุมมอง”  ไม่ใช่การให้คะแนนหรือให้เรตติ้ง และไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยขาดความเชื่อมั่น  ซึ่งปัจจัยหนึ่งในการวัดของ Moody’s มาจากกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่ทั่วโลกเจอเหมือนกัน และในปี 2551  เราเคยถูกปรับลดและปรับขึ้นกลับมาได้แล้ว

ทั้งนี้ สิ่งที่ Moody’s ใช้ในการพิจารณา คือ ศักยภาพในการเติบโต, ความปั่นป่วนของนโยบายเมื่อมีเรื่องกำแพงภาษีของสหรัฐฯ, ภาระหนี้ต่อเนื่อง รวมถึงความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้ยากขึ้นหรือไม่ 

"นี่คือสิ่งที่เขามอง ซึ่งรัฐบาลต้องไม่ทำให้เขากังวล ได้เตรียมการทางเศรษฐกิจให้ผ่านมรสุมไปให้ได้ มุ่งการหาเงินเข้าประเทศทำให้มั่นใจว่า GDP เติบโตขึ้นร้อยละ 3-4 อย่างต่อเนื่อง" 

โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผลักดัน GDP ประเทศไทยให้สูงขึ้น และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย สร้างโอกาสและการหากิน ถือเป็นการต่อลมหายใจให้ธุรกิจรายเล็กสามารถดำรงอยู่ต่อได้  ส่วนมาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศไทยกับโลกเข้าหากัน รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ 

อย่างไรก็ดี การที่ไทยถูก Moody’s ปรับ Outlook เป็นลบในครั้งนี้  นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมองว่าเป็น "สัญญาณเตือน" ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็น “ลางร้าย” ที่อาจนำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือ ( Credit Rating)  ลงได้ในอนาคต  จึงต้องจับตามองใกล้ชิด 

เพราะ Moody’s  ถือเป็นเจ้าแรกใน Ratings Agencies ใหญ่ของโลก ที่เริ่มนำร่องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทยในรอบนี้  ขณะที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายอื่นๆ ยังไม่มีการทบทวน อาทิ

 Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)  

S&P Global Ratings (S&P) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

และ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Rating and Investment Information, Inc. (R&I) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยตามมาด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระหว่างนี้ไทยอาจยังมีเวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี (ตามรอบของการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต) เพื่อวางแนวทางรับมือผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยเฉพาะหน้าจากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของเศรษฐกิจไทย ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และสถานะทางการคลัง  

ด้าน “ดร.กอบศักดิ์ ภู่ตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ  ออกมาแสดงความเห็นสอดคล้องกันว่าการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทยในรอบนี้ของ Moody’s  มีนัย “เป็นการเตือนประเทศไทย”   เพราะสำหรับ Moody’s นั้น Negative Outlook เป็นก้าวแรก ที่อาจจะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต 

และ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร  ก็ออกมาแสดงความเห็นสอดคล้องกันว่า นี่คือ “คำเตือนเสียงดังๆ” จากหนึ่งในสถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลกเราควรรับฟัง  จึงควรใช้โอกาสนี้ทบทวนว่า  "นโยบายการคลังของไทย”  โดยหาวิธีใช้เงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และ ต้องมีแผน "ลดหนี้" ที่น่าเชื่อถือ ทั้งลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ลดการรั่วไหล (โดยเฉพาะการคอร์รัปขั่น)  และขยายฐานภาษี (ถ้าจำเป็น) ปรับอัตราภาษีบางประเภท  เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และ รักษาความน่าเชื่อถือทางการคลังในระยะยาว อย่ารอให้ถูกปรับอันดับเครดิตจริง ๆ แล้วค่อยขยับ

ทั้งนี้ หลัง Moody's  ปรับลดมุมมองแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยไปเพียงหนึ่งวัน (29 เม.ย. 68) วันต่อมาก็ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน 7 แห่งของไทยเป็น "เชิงลบ"  จาก "มีเสถียรภาพ"   

ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (SCBX) และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB)

สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยที่อ่อนแอลง ท่ามกลางภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น 

นี่คือ "ลางร้าย" หรือไม่ เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขก่อนจะนำไปสู่การทบทวนมุมมองแนวโน้มของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายอื่นๆ และก่อนจะลุกลามไปสู่การปรับลดเครดิตประเทศในระยะต่อไป 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง