รีเซต

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดแผนการใช้เงินดิจิทัลภาคประชาชนในปี 2565 โดย Zipmex

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดแผนการใช้เงินดิจิทัลภาคประชาชนในปี 2565 โดย Zipmex
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2564 ( 16:11 )
424

ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวสกุลเงินดิจิทัลที่ทางภาครัฐหรือธนาคารกลางของแต่ละประเทศให้ความสนใจ รวมถึงมีการทดลองใช้จริงในบางประเทศแล้ว ตัวอย่างที่ดังที่สุดก็คือเรื่องของ ดิจิทัลหยวน ที่มีการปรับใช้แล้วในหลายเมือง ประชาชนและข้าราชการที่นั่นก็รับเงินเดือนครึ่งหนึ่งด้วยดิจิทัลหยวน อีกครึ่งหนึ่งคือเงินหยวนปกติ ร้านค้าต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็กก็รับชำระราคาด้วยดิจิทัลหยวน นั่นทำให้ความนิยม การยอมรับเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาครัฐหรือธนาคารกลางกำลังนิยมมากขึ้นตามลำดับ

การพัฒนาโครงการ CBDC ในประเทศไทย

Central Bank Digital Currency(CBDC) ในประเทศไทยมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเมื่อหลายปีก่อน เป็นโครงการที่มีชื่อว่า “อินทนนท์” ซึ่งมีการทดสอบระบบเป็นครั้งแรกในปี 2561 แต่เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นมารองรับธุรกรรมการโอนเงินระหว่างสถาบันกับสถาบัน จนล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการอัพเดทเพิ่มเติมว่าเร็วๆ นี้จะพัฒนาและสามารถให้ Retail ใช้งาน CBDC ได้แล้วด้วย 

(ภาพประกอบการพัฒนาโครงการ CBDC ของประเทศไทย)

Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC)

คุณวชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า “ธปท.อยู่ระหว่างการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency : Retail CBDC) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เปรียบได้กับธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง หลังจากที่ผ่านมามีความคืบหน้าผลการพัฒนาต้นแบบสกุลเงินดิจิทัลในภาคธุรกิจ (Central Bank Digital Currency : Wholesale CBDC) ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ (INTHANON) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561”

“การพัฒนา Retail CBDC เป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดย ธปท.จะต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ การดูแลข้อมูลจะต้องมีธรรมาภิบาล (data governance) ความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน”

กลไกเบื้องต้นของ CBDC ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกใช้การ Centralize Financing คือแบงค์ชาติจะกระจาย Digital Currency ให้กับสถาบันการเงินต่างเป็นตัวกลาง จากนั้นสถาบันการเงินจะกระจายเหรียญให้กับประชาชนทั่วไป บริษัทขนาดเล็กเพื่อใช้ทำธุรกรรม โดยจะต้องนำเงินสดมาแลกที่ธนาคารเพื่อเอา CBDC กลับไปใช้ใน Digital Wallet ประชาชนทั่วไปก็สามารถโอน CBDC ให้กันเองได้เพื่อทำการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน เมื่อต้องการเงินสดก็แค่นำ CBDC มาแลกที่ธนาคารเท่านั้นเอง

รูปแบบของ CBDC และความคาดหวัง

1.    ต้องการให้ CBDC มีลักษณะเดียวกับธนบัตร สามารถทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็ว รองรับทั้งแบบ Online และ Offline Payment

2.    เป็นระบบที่ปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนตัว มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้

3.    เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง โดยที่ไม่เกิดความเสี่ยงและผลกระทบตามมา เช่น

3.1    ผลกระทบต่อสถาบันการเงินอันเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจ

3.2    ลดทอนประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางการเงิน

3.3    ใช้ CBDC เป็นช่องทางการใช้ทำสิ่งที่ผิดกฏหมาย

ซึ่งหากใครติดตามเกี่ยวกับข่าวเรื่อง Stable Coin หรือเหรียญดิจิทัลที่มีการ Backup ด้วยเงินในโลกจริงก็น่าจะพอเห็นภาพของ CBDC มากยิ่งขึ้น แต่ส่วนที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ Stable Coin นั้นออกโดยภาคเอกชน มีทั้งแบบ Centralization และ Decentralization แต่ CBDC นี้เป็นสกุลเงินที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้เป็นระบบCentralization นั่นเองครับ

Stable Coin คือ

เหรียญสกุลดิจิทัลที่เป็นเหมือนเงินที่มีมูลค่าค่อนข้างคงที่ ซึ่งเหรียญ Stable Coin ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั้นถูกอ้างอิงกับค่าเงินดอลลาร์ (USD) เป็นหลัก อาทิ USDT, USDC เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเหรียญนี้เราเปิดให้นักลงทุนที่สนใจซื้อขาย ถือครองกันได้ตามใจชอบ ใครอยากออมเงินในรูปดอลลาร์แต่ไม่อยากจับต้อง “เงินกระดาษ” ก็สามารถถือ Stable Coin นี้แทนได้ เมื่อเราอยากจะโอนเงินให้ใครสักคนที่อีกฟากหนึ่งของโลกโดยที่ไม่ผ่านตัวกลาง ไม่มีเวลาเปิดปิด ก็สามารถทำได้ทันทีผ่านเหรียญทั้งสองตัวนี้ครับ

ความแตกต่างระหว่าง CBDC และ Cryptocurrency

ในส่วนของความแตกของ CBDC กับ Cryptocurrency ไม่ว่าจะเป็น Digital Currency , Utility Token , Stable Coin ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งอ้างอิงตามนิยามของสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” คือมีองค์ประกอบคร่าวๆ ดังนี้

1.    แบ่งเป็นหน่วยย่อยได้

2.    คงมูลค่า

3.    เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

โดยมองว่า Cryptocurrency สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ก็จริงแต่ในเรื่องความผันผวนหรือความคงที่ของมูลค่ายังไม่มี อีกทั้งการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็ยังเป็นคำถามที่ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้สักที ส่วน Stable Coin ที่มีเงินในโลกจริง Backup อยู่มีความผันผวนต่ำ มีมูลค่าคงที่แต่การยอมรับในการชำระเงินก็ยังไม่แพร่หลายมากขนาดนั้น นั่นทำให้การมาของ CBDC จะตอบโจทย์ในทุกข้อ ไม่ว่าจะเรื่องการแบ่งหน่วยย่อย การคงมูลค่า และการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ในฐานะของประชาชนในประเทศไทยคนหนึ่งก็ต้องเอาใจช่วยให้พัฒนาไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เพื่อให้เราสามารถทัดเทียมและแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในมุมนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ



(ภาพประกอบพัฒนาการของการชำระเงิน)



(ภาพประกอบการพัฒนา CBDC ของธนาคารกลางอื่นๆ และธนาคารแห่งประเทศไทย)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง