สธ.เตรียมวัคซีน 2 ชนิด 1 สูตรไขว้ ฉีดในเด็ก หลังพบติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น
วันนี้ (10 ก.พ.65) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วิชาญ ปานวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวของศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก 5-17 ปี และการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19
นพ.จักรรัฐ เปิดเผยว่า ยอดผู้ป่วยในขณะนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวน 563 ราย เพิ่มขึ้น 16 ราย เสียชีวิต 20 ราย เฉลี่ยแล้ว 7 วัน มีผู้เสียชีวิต 19 คน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เพิ่มขึ้น 3 ราย ผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 7 วัน 11,450 ราย หายป่วยเฉลี่ย 8,503 ราย ซึ่งการเตือนภัยในขณะนี้ยังคงอยู่ที่ระดับที่ 4 จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรวมตัว
ทั้งนี้ ยังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ส่วนภาคกลางผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงใน 2-3 วันที่ผ่านมา
ขณะที่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี ตามมาด้วย 30-39 ปี และ 40-49 ปี แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปี และกลุ่ม 10-19 ปี ค่อนข้างมาก แต่ในส่วนของกลุ่มผู้เสียชีวิต ยังคงพบอยู่ในช่วงอายุ 60-69 ปี และ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งอัตราของผู้เสียชีวิตอายุ 70 ปี สูงกว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า
สำหรับกลุ่มเด็กมีอาการ เสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.01 ซึ่งมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตน้อยกว่า และสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้เด็กมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น พบว่าในกลุ่มเด็กประถมศึกษา โดยเฉพาะประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาต้น โดยสาเหตุจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่โรงเรียน
แต่ในกลุ่ม 0-4 ปี และ 5-9 ปี จะติดเชื้อจากคนในครอบครัว ขณะที่วัยรุ่นเป็นผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อจากนอกบ้านและชุมชนเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละกลุ่มอายุมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วพบผู้สัมผัสที่บ้านและครอบครัวเป็นหลัก
สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่ามีสัญญาณของตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ในไทยในขณะนี้ พบการติดเชื้อค่อนข้างเร็ว เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งอาจจะต้องขอความร่วมมือการลดกิจกรรมที่จะมีโอกาสเสี่ยงสูง หรือหากจำเป็นต้องไป ก็ต้องดูแลตนเองตลอดเวลา ซึ่งในส่วนของการดูแลผู้ป่วยถือว่ายังสามารถรับมือได้
สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีการฉีดไปแล้ว ร้อยละ 75.6 เข็มที่ 2 มีการฉีดไปแล้วราวร้อยละ 70.5 และเข็มที่ 3 หรือ booster dose มีการฉีดไปแล้วที่ 24.2 ทั้งนี้พบว่า กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 19.9 เพียงเท่านั้น ซึ่งยังคงต้องให้กลุ่มเหล่านี้เข้ามารับการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ นพ.วิชาญ ปานวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิค 19 ในกลุ่มเด็ก พบว่าช่วงอายุ 5 - 11 ปี พบสัดส่วนการติดเชื้อในเด็กเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 6 ถึงแม้จะพบว่ามีการติดเชื้อมากขึ้น แต่ก็มีสถานการณ์ของอาการค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ พบว่ามีเด็กบางคนที่เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในระบบ ซึ่งเป็นข้อมูลและสถานการณ์ที่นํามาซึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครัวเรือน ที่จะนำไปสู่การติดเชื้อในผู้สูงอายุในบ้าน และให้สามารถเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย
ส่วนแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี จะได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ฝาสีส้ม จำนวน 2 เข็ม ระยะห่าง 8 สัปดาห์ส่วนเด็กอายุ 6-11 ปี จะได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ และเด็กอายุ 12 - 17 ปีสามารถรับวัคซีนได้ 2 ชนิด คือไฟเซอร์ ฝาสีม่วง จำนวน 2 เข็ม และสูตร ซิโนแวค -ไฟเซอร์ ฝาสีม่วง สำหรับเด็กอายุ 12 - 17 ปี อย่างละ 1 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์
สำหรับผลการศึกษาหลังการฉีดวัคซีนพบว่า หลังการฉีดในกลุ่มประชากรอายุ 13-17 ปี ในประเทศจีน มีจำนวน 10 ราย ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ จากจำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านราย ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์ที่มีการฉีดในกลุ่มอายุ 5 - 17 ปี ในสหรัฐอเมริกา พบผลข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบในการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ด้วยเช่นกัน และอัตราการป่วยตายของเด็กจะอยู่ที่ 2 คน ใน 10,000 คน แต่ถ้าหากได้รับวัคซีนแล้วอัตราการเสียชีวิตของเด็กจะลดลง
นอกจากนี้พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็ก อายุ 12-17 ปี พบว่าวัคซีนสูตรไขว้ มีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ด้วยซิโนแวคและไฟเซอร์ ในสัดส่วนที่สูง ส่วนในเด็กเล็ก จะมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ วัคซีนที่จะใช้สำหรับเด็กวัยเรียนมี 2 ประเภท คือ วัคซีนเชื้อตายและวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท ไฟเซอร์ ซึ่งวัคซีนที่มีในขณะนี้ถือว่ามีความพร้อม โดยวัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ถือว่ามีพร้อมในพื้นที่อยู่แล้ว แต่วัคซีนของไฟเซอร์ อาจจะใช้เวลาในการจัดส่งสัปดาห์ละ 3-5 แสนโดสต่อสัปดาห์
สำหรับผลการฉีดวัคซีนที่ผ่านมา มีการดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคเป็นกลุ่มแรก ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม และให้บริการฉีดวัคซีนตามระบบสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งวัคซีนที่ได้รับนั้น เป็นวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม โดยให้กับกลุ่มเป้าหมาย 5-11 ปี
ส่วนอีกกลุ่มเป้าหมายเป็นวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีม่วง ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่สำหรับจะมีวัคซีนของซิโนแวคให้กับกลุ่มเด็ก 6-11 ปี เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งตั้งแต่ 31 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5-11 ปีไปแล้ว 66,165 คน ซึ่งยังไม่พบข้อมูลความผิดปกติของการฉีดวัคซีนในเด็กแต่อย่างใด.
ภาพจาก แถลงข่าวกระทรวงสาธารณสุข , แฟ้มภาพ TNN ONLINE