รีเซต

ศักดิ์สยาม ชงแปลงใบอนุญาติเป็นทุนใช้ค้ำกู้เสริมสภาพคล่อง7สายการบินเจ๊งพิษโควิด

ศักดิ์สยาม ชงแปลงใบอนุญาติเป็นทุนใช้ค้ำกู้เสริมสภาพคล่อง7สายการบินเจ๊งพิษโควิด
ข่าวสด
18 สิงหาคม 2563 ( 10:55 )
127

คมนาคม ปิ๊งแปลงใบอนุญาติเป็นทุนใช้ค้ำกู้เงินเสริมสภาพคล่อง7สายการบินก่อนเจ๊งจากพิษโควิด –19 ส.ค.ชงนายกไฟเขียว แพคเกจอุ้มผู้ประกอบการ -คาด 1 ก.ย.เปิดให้ขายอาหารบนเครื่องบินได้

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ตัวแทน 7 สายการบินสัญชาติไทย ประกอบด้วย สายการบินไทยสมายล์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยเวียตเจ็ท, และไทยไลอ้อนแอร์ ได้เข้าพบขอให้กระทรวงคมนาคมช่วยติดตามความคืบหน้าการขอให้รัฐบาลช่วยเหลือจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ให้แก่ผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง มอบให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการ แต่ติดปัญหาการประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 

ดังนั้นตนจะหารือกับกระทรวงการคลัง ขอให้มีการพิจารณาแปลงใบอนุญาตประกอบการกิจการค้าขายในการเดินอากาศใหม่(เอโอแอล) ซึ่งเป็นใบอนุญาต ที่ได้รับจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย( กพท.) แปลงเป็นทุนได้หรือไม่ เพราะถือเป็นใบสำคัญที่สามารถนำมาหารายได้ และนำไปเช่าซื้อเครื่องบินได้ ไม่อยากให้ผู้ประกอบการไปไม่รอด เพราะปัจจุบันโครงสร้างของแต่ละสายการบินยังแข็งแรงอยู่ และเริ่มกลับมาทำการบินเส้นทางภายในประเทศ และมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บางสายการบินมีผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาแล้วประมาณ 80%

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเสนอขอขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน จาก 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.20 บาท/ลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และขยายเวลาการลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน(Landing) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking) ในอัตรา 50% ซึ่งจะสิ้นสุดเดือน ธ.ค.นี้ออกไปอีก รวมทั้งจะปลดล็อคให้สายการบินจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบินได้ตามปกติ โดยมอบให้สายการบินไปทำแผนกลับมาเสนอซึ่งจะต้องป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

 

ทั้งนี้วันที่ 19 ส.ค.นี้ จะนำข้อเสนอของสายการบิน เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา รวมทั้งเสนอให้นำ PCR TEST ซึ่งเป็นระบบตรวจหาโควิด-19 ที่มีความแม่นยำสูง มาใช้ที่สนามบินในประเทศไทยด้วย โดยหากนายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เห็นว่าเป็นประโยชน์จริง อาจนำมาทดสอบต่อไป

 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การห้ามจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบินที่ทำการบินต่ำกว่า 4 ชั่วโมงเป็นไปตามระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่ง กพท. ออกประกาศบังคับสายการบินไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เวลานี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น สายการบินจึงขอให้ปลดล็อกเรื่องการห้ามขายอาหารฯ บนเครื่องบิน

 

เพราะการขายอาหาร บนเครื่องบิน นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับสายการบินแล้ว ยังกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมให้กับประเทศด้วย หลังจากนี้จะต้องหารือร่วมกับ สธ.ก่อน หากไม่มีปัญหา คาดว่าจะยกเลิกประกาศ กพท. ฉบับเก่า และออกประกาศ กพท. ฉบับใหม่ ให้สายการบินเฉพาะภายในประเทศเปิดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง