คลังจ่อออกมาตรการกระตุ้นศก. 5แสนล.

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดจีดีพีไทยปี 68 จาก ร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 1.8 ว่า เรื่องนี้เป็นการประเมินเบื้องต้น ซึ่งของจริงยังไม่รู้ว่าลดเท่าไร แต่ไม่น่าถึงขนาดนั้น เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอด
แต่ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งรัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการมาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยส่วนจีดีพีที่จะลดลงไป เพื่อรักษาให้เติบโตได้ในระดับเดิมได้
ทั้งนี้ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะโฟกัสเรื่องในประเทศ ดูทั้งการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในประเทศ ตลอดจนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน ส่วนที่มาของแหล่งเงินจะต้องดูเพราะมีหลายทาง โดยขณะนี้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพัฒน์รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดแล้ว
ส่วนผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะนั้น ไม่อยากให้มองเรื่องหนี้ เพราะหลายหลายประเทศก็มีหนี้สูงกว่า แต่สิ่งสำคัญคือหากมีการใช้เงินมาจะนำมาใช้ทำอะไร ซึ่งถ้าสามารถทำให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวได้กว่าเดิมก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงได้
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าตอนนี้ฐานะการคลังไทยยังเข้มแข็งส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 500,000 ล้านบาทปีนี้นั้น
ก็ต้องดูว่าจะเข้ามาทำในส่วนไหน ซึ่งมองว่าเรื่องการกระตุ้นการบริโภคก็จะเกิดผลได้ไว แต่เรื่องการลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
สำหรับแหล่งเงินที่มาตอนนี้ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่เพราะสามารถทำได้จากหลายวิธีทั้งการเกลี่ยงบประมาณ รวมถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ก็ต้องดู ตลอดจนสามารถนำเงินสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทาง ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอดูการสรุปโครงการ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในเดือนหน้า ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร
ส่วนการขยายเพดานหนี้เป็นร้อยละ 75-80 นั้นมองว่าเรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหลายประเทศก็มีหนี้สูงถึงร้อยละ 80หรือ 100 สิ่งสำคัญคือกู้เงินมาทำอะไร รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนด้วย