รีเซต

พิษเอลนีโญ ทำทะเลไทยร้อน ปี 67 แตะ 35 องศา จะเกิดอะไรขึ้น ?

พิษเอลนีโญ ทำทะเลไทยร้อน ปี 67 แตะ 35 องศา จะเกิดอะไรขึ้น ?
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2566 ( 18:19 )
107
พิษเอลนีโญ ทำทะเลไทยร้อน ปี 67 แตะ 35 องศา จะเกิดอะไรขึ้น ?

เป็นข้อมูลที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรณ์  ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตรศาสตร์ นำมาอ้างอิงเพื่อชี้ชัด ๆ ให้เห็นว่า อุณหภูมิน้ำทะเลไทยร้อนขึ้นต่อเนื่อง จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงเร่งความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงปี 2567 นั่นอาจจะทำให้ในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงช่วงเมษายน 2567 อุณหภูมิของน้ำทะเลในประเทศไทยอาจจะมีอุณหภูมิที่สูงเพิ่มมากขึ้นไปถึง 34 - 35 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของทะเลไทยเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลไทยที่ผ่านมาก็ถือว่าทำสถิติเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด และผลกระทบก็ยากที่จะประเมิน



“ข้อมูลนี้พอบอกได้ว่า เอลนีโญเริ่มส่งผล ทำให้น้ำทะเลร้อนกว่าปรกติ 1 องศา ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเอลนีโญปานกลาง หากสูงเกิน 1 องศาเมื่อไหร่ ความแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนพีคสุดช่วงปลายปี/ต้นปีหน้า ทั้งหมดนี้บอกว่าทะเลกำลังแปรปรวน จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเรียนรู้และพัฒนาต่อไปจนคาดการณ์และทำนาย เพื่อการรับมือกับยุคโลกร้อนทะเลเดือด ” 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทะเลร้อนไม่หยุด ?



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรณ์ ระบุว่า ผลกระทบจากอุณหภูมิของทะเลที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ประกอบการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับปะการังในทะเลไทย น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว แม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็น แต่ปะการังบางแห่งยังสีซีด  ไม่แข็งแรง ซึ่ง อ.ธรณ์ ระบุว่า ปะการังทะเลไทยเกิดการฟอกขาวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา



นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากแพลงตอนบูม ที่เกิดถี่ขึ้น จากปกติจะเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งราว 1-2 ครั้งต่อ 1 เดือน แต่ปัจจุบันจะกลับเกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบูมเพิ่มมากขึ้น 3-4 ครั้งใน 1 เดือน และเกิดขึ้นในบางจุดที่ไม่เคยเกิด ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลขาดออกซิเจนตาย รวมถึงกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเล อย่างเช่นปรากฏการณน้ำทะเลสีเขียว ในหลายจุดท่องเที่ยวของทะเลชลบุรีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา



“แพลงก์ตอน บลูม” โลกยิ่งร้อน ยิ่งเกิดถี่


แม้ทะเลเปลี่ยนสี หรือแพลงก์ตอนบลูม จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่ด้วยภาวะเอลนีโญ ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยเร้าให้ปรากฏการณ์รุนแรง



รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อธิบายว่า แพลงก์ตอนบลูมเป็นพืชที่สะพรั่ง มีสี เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเร็ว ฉับพลัน อาจจะสัก 3-5 วัน หรือเป็นเดือนก็ได้ มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกลงมามาก โดยที่ฝนชะล้าง พัดพาสารอินทรีย์ตามหน้าดินไหลลงสู่ทะเล เมื่อฝนหยุด ทิ้งช่วง มีแดดออก ช่วงนี้เองจะเป็นช่วงที่แพลงก์ตอนเติบโตได้ดีมาก ๆ จนเปลี่ยนน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียว แม้เป็นปรากฎการณ์ที่ก่ออันตราย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่น่ากังวลโดยเฉพาะหากเกิดขึ้นหนาแน่น



“แพลงก์ตอนแต่ละชนิดมีความเป็นพิษที่ต่างกัน บางตัวไม่มีพิษ แต่บางตัวก็สร้างสารพิษในตัวเองได้ ย่อมส่งผลเป็นวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำ หรือคน แต่บางสายพันธุ์ที่แม้ไม่ได้มีพิษ แต่พอมันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างน้ำจนอาจกลายเป็นพิษได้ เช่นค่าแอมโมเนียในน้ำอาจมีเพิ่มสูงขึ้น”



นี่เป็นผลกระทบเอลนีโญต่อมิติของท้องทะเล ซึ่งในความเป็นจริงปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ส่งผลต่อหลายมิติ ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อภาคเกษตร อุตสาหกรรม หรือแม่แต่สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ ที่พบการระบาดของโรคบางโรคที่หนักหน่วงขึ้น เป็นปัญหาให้ต้องขบคิดว่าจะรับมืออย่างไร





เรียบเรียงโดย จิตฤดี บรรเทาพิษ

เครดิตภาพ TNN

แฮชแท็ก #ทะเลร้อน #โลกร้อน #โลกเดือด #เอลนีโญ #สภาพอากาศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง