รีเซต

Vulcan สตาร์ตอัป AI ไทย จ้างงานคนพิการหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต I TNN Tech Reports

Vulcan สตาร์ตอัป AI ไทย จ้างงานคนพิการหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต I TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
14 กุมภาพันธ์ 2567 ( 14:01 )
29
Vulcan สตาร์ตอัป AI ไทย จ้างงานคนพิการหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต I TNN Tech Reports




ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ เดือนมิถุนายน 2566 พบว่า คนพิการในวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 15 - 59 ปี มีจำนวนทั้งหมด 859,555 คน 

โดยคนพิการที่ประกอบอาชีพมีจำนวนเพียง 312,131 เท่านั้น นั่นหมายถึงมีคนพิการอีกหลายแสนคนที่ไม่มีงานทำหรือยังไม่ได้รับโอกาสในการทำงาน


ซึ่งจากกฎหมายเพื่อสนับสนุนการจ้างงานคนพิการของประเทศไทย ได้กำหนดไว้ว่า ในบริษัทที่มีพนักงาน 100 คน ต้องมีการจ้างงานคนพิการ 1 คน หรือสามารถจ้างในรูปแบบพนักงานชั่วคราวได้ 


จึงเกิดเป็น Vulcan ที่จะตอบโจทย์ได้ทั้งการสร้างรายได้ให้คนพิการ  และบริษัทต่าง ๆ ได้จ้างงานคนพิการตามกฎหมาย 


หลักการขับเคลื่อน AI 


การทำงานของ AI จะต้องอาศัยการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาล ยิ่งป้อนข้อมูลคุณภาพได้มากเท่าไหร่ AI ก็จะยิ่งทำงานได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น คล้าย ๆ กับการเรียนรู้ของเด็ก แต่ในประเทศไทยยังขาดคนจัดทำข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมาก 


Vulcan จึงรับหน้าที่เป็นคนกลางฝึกฝนและเสริมทักษะให้กับคนพิการ ให้สามารถป้อนข้อมูล AI แล้วนำไปใช้งานในหลากหลายรูปแบบที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ เช่น เอไอด้านการสื่อสาร AI text to speech สร้างเสียงจากข้อความ และ AI speech to text สร้างข้อความจากเสียง บริการคอลเซ็นเตอร์ AI depression detection หรือ เอไอคัดกรองโรคซึมเศร้า  


โดยหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนจากศักยภาพคนพิการก็คือ ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร คอลเซนเตอร์ 1555 ซึ่งนำระบบ AI มาช่วยเพื่อทำให้การรับสายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


การทำงานของ Vulcan


ลักษณะการทำงานของ Vulcan จะอยู่ในรูปแบบของการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ Working Ecosystem ที่เอื้อกับคนพิการ ผ่านแพลตฟอร์มการออกแบบซอฟต์แวร์ ให้สามารถทำงานได้จากทั่วประเทศโดยไม่มีต้นทุนเรื่องการเดินทาง เช่น 


  • ระบบ E-learning ที่มีชื่อว่า Vulcan Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเรียนรู้การทำงานขั้นพื้นฐานสำหรับผู้พิการ โดยมีเครื่องมือที่เหมาะสำหรับผู้พิการแต่ละประเภท เช่น ผู้พิการทางสายตา จะมีโปรแกรมอ่านหน้าจอ หรือ Screen Reader รวมถึงโปรแกรมขยายตัวอักษรหรือเพิ่มแสง สำหรับผู้พิการตาเลือนลาง  สำหรับผู้พิการทางหูก็จะมีโปรแกรมภาษามือบอกในทุกขั้นตอน

  • แพลตฟอร์มลิงก์เก็จ เชื่อมต่อคนพิการกับบริษัทผู้ว่าจ้าง สร้างเป็นสัญญาการจ้างงานอัตโนมัติ ซึ่งจะบอกรายละเอียดการจ้างงานผ่านโปรแกรมอ่านหน้าจอ และส่งเอกสารสมัครงานถึงที่บ้าน พร้อมแจ้งสถานะตลอดการสมัครงาน

ระบบที่อำนวยความสะดวกในการจ้างงานผู้พิการยังไม่หมดเพียงแค่นั้น  โดยหลังจากผู้พิการได้เข้าทำงานเรียบร้อยแล้ว จะทำงานผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่าโคแล็บ โดยจะได้รับมอบหมายงานที่เหมาะกับความพิการของแต่ละบุคคล และจะต้องได้รับการประเมินคุณภาพการทำงาน ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Value


นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม ยูนิตี้ เป็นเสมือนพื้นที่ชุมชน ให้ผู้พิการสามารถพูดคุย พบปะกันเข้าสังคมในรูปแบบออนไลน์ได้ 


ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป้าหมายของการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบนิเวศให้คนพิการสามารถทำงานที่มีประสิทธิภาพ จากที่บ้านได้ เป็นการลดข้อจำกัดทั้งการเดินทางและค่าใช้จ่าย 


ผลลัพธ์จากการจ้างงานคนพิการเป็นอย่างไร ? 


การจ้างงานคนพิการ นอกจากไม่มีข้อจำกัดในการดึงศักยภาพการทำงานแล้ว ยังสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้ธุรกิจไม่น้อย ปัจจุบันมีการจ้างงานคนพิการผ่าน Vulcan แล้วเกือบ 600 คน สร้างรายได้ให้กลุ่มคนพิการเกือบ 60 ล้านบาทต่อปี

 

ซึ่งคุณสมบัติของผู้พิการที่จำเป็นในการทำงานมีเพียง 2 ข้อเท่านั้น ก็คือ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ และสามารถอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากเป็นการทำงานด้านการสื่อสารภาษาไทย


ส่วนการพัฒนาในอนาคต Vulcan ตั้งเป้าจะพัฒนา AI ให้เก่งขึ้นเพื่อช่วยงานคนพิการได้ดีขึ้น และนำไปสู่การสร้าง AI ให้ได้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง


นอกจากความมุ่งหวังในการดำเนินธุรกิจที่เติบโตแล้ว สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้จากการได้รู้จัก Vulcan สตาร์ตอัป AI ของไทยในวันนี้  ก็คือ ความตั้งใจจริงที่จะเห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับชีวิตของผู้พิการไปควบคู่กัน ผ่านการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ระบบการทำงานที่รองรับและดึงศักยภาพการทำงานของคนพิการออกมาให้ได้มากที่สุด โดยไม่นำข้อจำกัดด้านร่างกายมาเป็นเงื่อนไข 


นำไปสู่การช่วยเติมเต็มการทำงานด้านข้อมูลในอุตสาหกรรม AI ที่ประเทศไทยยังถือว่าขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ พร้อม ๆ ไปกับ สร้างการรับรู้และมุมมองของคนในสังคม ต่อคนพิการไปในทิศทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับผู้พิการได้กลับมาพลังใจในการใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง