รีเซต

"สหรัฐ" อ้างสกัดทุนจีน ขึ้นภาษีนำเข้าโซลาร์ 4 ชาติอาเซียนรวมไทย พุ่ง 3,521%

"สหรัฐ" อ้างสกัดทุนจีน ขึ้นภาษีนำเข้าโซลาร์ 4 ชาติอาเซียนรวมไทย พุ่ง 3,521%
TNN ช่อง16
22 เมษายน 2568 ( 10:13 )
24

รอยเตอร์รายงานว่า สหรัฐอเมริกาประกาศเก็บอัตราภาษีใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าโซลาร์ที่นำเข้าจาก 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และไทย โดยกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดถึง 3,521%  โดยอ้างผลการสอบสวนพบว่ามีทุนจีนอยู่เบื้องหลังและใช้อาเซียนเพื่อเป็นฐานส่งออกไปยังสหรัฐฯ จึงปรับภาษีเพื่อลงโทษการทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุน เป็นการกำหนดราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรมตามที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐคำนวณไว้


ภาษีอัตราใหม่ที่ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2568 เวลาท้องถิ่นในสหรัฐ เป็นผลจากการสืบสวนการค้านาน 1 ปี ซึ่งพบว่าผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ได้รับประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจากการอุดหนุนของรัฐบาล และขายสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทั้งนี้การสืบสวนนี้ดำเนินการโดยผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศสหรัฐและเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน


รอยเตอร์  รายงานเพิ่มเติมอีกว่า สหรัฐพบว่าทุนจีนอยู่เบื้องหลังโดยใช้ประเทศต่างๆในอาเซียนเป็นฐาน ซึ่งย้อนไปเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว สหรัฐมีการกำหนดภาษีศุลกากรที่คล้ายคลึงกันนี้ต่อการนำเข้าพลังงานแสงอาทิตย์จากจีน ซึ่งผู้ผลิตในจีนก็ตอบโต้ด้วยการตั้งโรงงานในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรดังกล่าว  ซึ่งทางสหรัฐได้เริ่มการสอบสวนซึ่งเริ่มต้นจากคำร้องเมื่อเดือนเมษายนของ "American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee" ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทโซลาร์ต่างๆ ของสหรัฐ รวมถึง First Solar, Hanwha Q Cells และ Mission Solar Energy LLC

ภาษีดังกล่าวจะเก็บเพิ่มจากภาษีนำเข้าทั่วไปที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐเรียกเก็บไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ทำให้ห่วงโซ่อุปทานและตลาดทั่วโลกปั่นป่วนไปแล้ว 


จากนั้นจะมีการโหวตทบทวนภาษีเรตใหม่จากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐซึ่งจะลงมติในเดือนมิถุนายนนี้ หรืออีกประมาณหนึ่งเดือนว่าผู้ผลิตได้รับอันตรายหรือถูกคุกคามจากการนำเข้าหรือไม่


ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ระบุว่า การเก็บภาษีครั้งนี้ สำหรับกัมพูชาถูกกำหนดสูงถึง 3,521%  เป็นผลจากการตัดสินใจของกัมพูชาที่หยุดเข้าร่วมการสอบสวน ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์


ขณะที่บริษัทที่ไม่ได้ระบุชื่อในเวียดนามถูกตั้งภาษีสูงถึง 395.9% ส่วนไทยถูกตั้งไว้ที่ 375.2% มาเลเซียถูกตั้งไว้ที่ 34.4%

ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐนำเข้าอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 12,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 428,000 ล้านบาท) จาก 4 ประเทศที่ต้องเสียภาษีใหม่นี้ คิดเป็นประมาณ 77 % ของการนำเข้าโมดูลทั้งหมด


และแม้ความเคลื่อนไหวไหวดังกล่าวอาจถูกมองเป็นชัยชนะของผู้ผลิตในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันที่คุกคามการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศอยู่แล้ว เพราะภาษีดังกล่าวยังจะส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐที่พึ่งพาอุปทานจากต่างประเทศในราคาถูกมาเป็นเวลานานและอาจจะปรับตัวไม่ทัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายของรัฐบาล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง