รีเซต

"สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" บทบาทนอกครม.โฟกัสชุมชน-4กุมารเสนอทางออกประเทศ

"สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" บทบาทนอกครม.โฟกัสชุมชน-4กุมารเสนอทางออกประเทศ
มติชน
10 สิงหาคม 2563 ( 10:02 )
98
"สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" บทบาทนอกครม.โฟกัสชุมชน-4กุมารเสนอทางออกประเทศ

ภายใต้การเมืองไทยที่เปลี่ยนผ่าน สัปดาห์นี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ หรือ ตู่2/2 จะเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ “มติชน”สัมภาษณ์ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานถึงบทบาทการทำงานด้านเศรษฐกิจและการเมืองนอกครม.

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้วางนโยบายหลัก 2 ด้านคือ Energy for All และ Center Energy of ASEAN ก่อนจะแตกนโยบายออกมาในรายละเอียดต่างๆ

 

-ลุยโรงไฟฟ้าชุมชนถ้ารมว.พลังงานเอาด้วย
ปัญหาอดีตในด้านพลังงานของไทยจะมองแค่ความมั่นคง แต่มองด้านต้นทุนไฟฟ้าให้มีความสามารถในการแข่งขัน เพราะเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทย ซึ่งไทยไปสู่นิวเคลียร์ไม่ได้ ถ่านหินไม่ได้ แต่ปัจจุบันพาร์ทที่สำคัญคือ การสร้างเศรษฐกิจฐานราก ต้องผสมผสานต้นทุน บริหารต้นทุนยังไงให้ถูก และมีพาร์ทที่เข้ามาสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ถ้าคิดแค่โรงไฟฟ้าชุมชนค่าไฟแพง คิดแบบนี้ก็จบ ถ้าพึ่งแต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(ไอพีพี) แต่ประเทศจะไปอย่างไร หลังจากนี้ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ ส่วนตัวจะเลือกพื้นที่ประมาณ 500-600 ชุมชนเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อสนับสนุนให้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนในอนาคต จะชวนมูลนิธิสัมมาชีพเพราะมีความพร้อมระดับหนึ่ง เน้นชุมชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวแก้หนี้ไม่ได้ หรือชุมชนที่แห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ เลือกชุมชนเหล่านี้เพื่อเข้าไปดูว่าองค์ประกอบเหล่านั้นเหมาะหรือไม่กับการเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน จะยกมือบอกว่าควรให้เขาลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จะพิสูจน์ถึงการปลดหนี้ ปากท้องดีขึ้น ดึงธ.ก.ส.เข้ามาช่วย จะพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าชุมชนที่แท้เป็นสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การตั้งโรงไฟฟ้าของเอกชน ที่สำคัญอยากเห็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่แก้หนี้ จะลงไปดู

 

ถือเป็นบทบาทจากคนให้นโยบาย บริหารกระทรวง ลงมาผลักดันนโยบายที่เชื่อมั่นว่าดีให้สำเร็จ เป็นมิติการทำงานการเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่การเมืองต้องมีตำแหน่งหน้าที่ ต้องทำจากบนลงล่าง แต่จะเป็นล่างขึ้นบน เพราะต้องการขับเคลื่อนประโยชน์จากการใช้พลังงานให้เปลี่ยนชีวิต ตอนนี้มีหลายองค์กรติดต่อเข้ามาว่าอยากทำงานด้วย อาทิ กลุ่มของธนาคารต้นไม้มีความพร้อมอยากร่วม ด้วย กองทุนหมู่บ้าน ยินดีทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อาจทำงานกับท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริการส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พร้อมทำงานทั้งหมด

 

ปฏิรูปอุตสาหกรรมปาล์มยกระดับประเทศ
-เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน จะเดินหน้าบล็อกเชนเพื่อใช้กับบี100 ขณะนี้เตรียมพบกับสมาพันธ์ปาล์มน้ำมัน สมาคมลานเท ผู้ประกอบการโรงสกัด เพื่อดูว่าติดขัดอะไร จะช่วยเหลือ อาจต้องขอร้องกลุ่มโรงกลั่นในการช่วยซื้อบี100 ภายใต้โครงสร้างบล็อกเชน อยู่ที่ว่าจะสนับสนุนนโยบายนี้ต่อหรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรพ้นจากการถูกเอาเปรียบ เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เกิดปาล์มคุณภาพ เกิดบิ๊กดาต้าของภาคเกษตร สิ่งเหล่านี้อยากให้เกิด เพราะถ้าทำต่อข้างล่างกำลังจะได้ ไม่ได้เสียใจกับตำแหน่ง แต่เสียใจว่างานเหล่านี้กำลังจะเดินหน้าและ เกษตรกร ชุมชน กำลังจะได้

 

อย่างบี10 เมื่อนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันชนิดนี้จะลดการนำเข้าน้ำมันที่ไทยผลิตไม่ได้ นโยบายต้องมีส่วนทำให้บี100 ไปดันต้นทุนของเกษตรกรให้ดีขึ้น และก้าวต่อไปต้นทุนบี100 ต้องถูกลงด้วย เพราะเทรนด์พลังงานของโลกบี100อนาคตจะไม่จำเป็นสำหรับเชื้อเพลิงเมื่ออีวีเข้ามาแทนที่ ไทยมีเวลาไม่มาก ตัวปาล์มน้ำมันอนาคตจะเป็นโอลิโอเคมิคัลส์ ที่่ผ่านมาเตรียมส่งเสริมให้เกิดกรีนดีเซล คือ ดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน คือดีเซล100% ซึ่งไทยจะลดการนำเข้าดีเซลจากต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้ต้นทุนยังแพง ต้องส่งเสริมให้ผลิตจำนวนมาก จะคล้ายบี100 ยกตัวอย่างหากสามาถเติมกรีนดีเซลได้10% จะลดการนำเข้าดีเซลได้10% ขณะเดียวกันเมื่อเติมบี100อีก10% จะเท่ากับไทยลดการนำเข้าดีเซลได้ถึง 20% เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการเพิ่มมูลค่าจากปาล์มน้ำมันมาทำซีพีโอ มาทำบี100 และเป็นไบโอดีเซล

 

อีกส่วนคือ จากซีพีโอมาทำกรีนดีเซล และอีกส่วนคือ ซีพีโอทำเป็นโอลิโอเคมิคัลส์ ยกระดับราคาหลายเท่าตัว สิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวต่อไปในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ปาล์มน้ำมันของไทยอยู่ต่อได้ เข้ากับทิศทางของบีซีจี คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว สอดรับกับนิวเอสเคิร์ฟอินดัสทรีที่รัฐบาลต้องลงทุน สิ่งเหล่านี้มีระยะเวลา ไม่ใช่การโฟกัสแค่บี100 และอยู่กับตรงนี้ ซึ่งอยู่ไม่ได้ ไทยต้องก้าวไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้จะทำ ความเป็นรัฐอะไรที่เดินแล้วติดขัด มีข้อจำกัด หรือนโยบายที่ริเริ่มไว้และเชื่อว่ามีประโยชน์กับพี่น้องประชาชน จะทำ ไม่เลิก ความตั้งใจเป็นประมาณนั้น อย่างน้อยก็อดีตรัฐมนตรีจะไม่ฟังบ้างเลยหรือ และที่ทำคือเพื่อคนข้างล่าง และยังช่วยผู้อำนาจในการขับเคลื่อนแต่ต้องรอนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ด้วย

 

ไทยพร้อมศูนย์กลางพลังงานภูมิภาค
-สำหรับนโยบาย Center Energy of ASEAN ที่ทำไว้จะมีทั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีของภูมิภาค ทั้งการนำมาใช้เอง เพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า แต่ข้อสำคัญคือจะบาลานซ์ยังไงระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้นำเข้าในช่วงที่ผ่านมากับผู้นำเข้ารายอื่นที่นำเข้าเองก็ต้องมีสัดส่วนเท่าใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งการเปิดให้เอกชนสามารถนำเข้าแอลเอ็นจีได้เอง นอกจากต้นทุนที่ถูกลงของผู้ประกอบการแล้ว ต้นทุนปลายทางคือค่าไฟต้องถูกลงด้วย ขณะเดียวกันการกระจายต้องมั่นคงด้วย เรื่องนี้ต้องศึกษารายละเอียดรอบด้าน รอรัฐมนตรีคนใหม่ศึกษา ซึ่งการอนุมัติให้เอกชนนำเข้าอย่างเป็นทางการนั้นต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อีกองค์ประกอบของการเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจี คือ ด้านการส่งออก ซึ่งปตท.มีความพร้อม ขณะนี้ใกล้ดำเนินการแล้วในปลายเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ในด้านไฟฟ้าก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งหมดจะทำให้ไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขัน

 

ฉวยโอกาสยกระดับไทยหลังโควิด
-ตอนนี้ไทยมี 2 ปัญหาซ้อน คือ ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่สะสมมา ตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน อาทิ การพึ่งพิงส่งออกที่ต้องผลิตสินค้ามูลค่าสูง หรือการพึ่งพิงดิจิทัลไลซ์เซชั่นที่ต้องปรับตัว หรือด้านการท่องเที่ยวที่ไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการบริการสูงขึ้นเรื่อย แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นสถานการณ์ที่กระแทกเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ตอนนี้เมื่อต้องเจอทั้งเศรษฐกิจไทยและโลกเข้ามา ไทยต้องจัดการกับมิติที่ทับซ้อน มิติของนิว นอร์มอลหลังโควิด จะปรับตัวอย่างไรกับการฉกฉวยโอกาสหลังโควิด ใช้จุดแข็งของประเทศ ขณะเดียวกันจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สะสมเพื่อพาผู้ประกอบการให้อยู่รอด การเข้ามาหลายเรื่องต้องพยุงภาวะปัจจุบันให้อยู่รอด ขณะเดียวกันต้องปรับวิธีคิดการนำเม็ดเงินรัฐและเอกชน เพื่อใช้แต่ละพื้นที่ ต้องเกื้อกูลการเปลี่ยนผ่าน ต้องใช้เม็ดเงินฟื้นฟูเพื่อรับการเปลี่ยนผ่าน ไม่เช่นเม็ดเงินจะหายไป อย่างปัจจุบันต่างชาติอยากเข้ามาอยู่ในไทย เพราะเห็นว่าเป็นประเทศปลอดภัย คำถามคือต้องทำอย่างไร อาจต้องยอมให้ต่างชาติถือครองที่อยู่อาศัยในไทยได้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นอสังหา หรือ ด้านการแพทย์ การท่องเที่ยวจะใช้ประโยชน์อย่างไร

 

4กุมารชู Wisdom for The Country
-การทำงานร่วมกับ 4 กุมาร( ประกอบด้วย “อุตตม สาวนายน” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ล่าสุดได้คุยกับนายอุตตม ไปพอสมควรแล้ว คือ จะทำเรื่อง เบื้องต้นจะทำเรื่อง Wisdom for The Country ภายใต้สถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มทำงานด้วยกัน จะเน้นทำงานวิจัย งานนโยบายสาธารณะ สามารถทำให้เห็นทิศทางการบริหารประเทศภายใต้ เป็นวิสดอมให้กับการจัดการปัญหาของประเทศ มองเห็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคต อย่างกรณีเงินฟื้นฟูประเทศ 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลอยู่ระหว่างอนุมัติโครงการหากถามว่าควรเดินไปทิศทางไหนสถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์จะมีคำตอบให้ จะเสนอการเปลี่ยนผ่านอย่างไร จะมีทีมวิจัยเพื่อศึกษาให้เห็นภาพชัด เหล่านี้คือบทบาทของ 4 กุมารภายใต้สถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ที่คุยกันไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง