รีเซต

'เภสัชชนบท' ออกจดหมายถึงบิ๊กตู่-อนุทิน เร่ง ก.พ.ส่งเภสัชกรใช้ทุนปฏิบัติงาน หนุนภารกิจวัคซีน-ยับยั้งโควิด

'เภสัชชนบท' ออกจดหมายถึงบิ๊กตู่-อนุทิน เร่ง ก.พ.ส่งเภสัชกรใช้ทุนปฏิบัติงาน หนุนภารกิจวัคซีน-ยับยั้งโควิด
มติชน
24 มิถุนายน 2564 ( 17:31 )
47

‘ชมรมเภสัชชนบท’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงบิ๊กตู่-อนุทิน เร่ง ก.พ.ส่งเภสัชกรใช้ทุนปฏิบัติงาน หนุนภารกิจวัคซีน-ยับยั้งโควิด

 

 

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายสุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ลงนามในจดหมายเปิดผนึก ที่ส่งถึง พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอให้เร่งรัดส่งเภสัชกรใช้ทุนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อสนับสนุนภารกิจจัดการวัคซีน และยับยั้งการระบาดโควิด-19

 

 

 

ระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจัดสรรตำแหน่งพนักงานราชการ โดยเปลี่ยนตำแหน่งและกำหนดตำแหน่ง พนักงานราชการสำหรับจัดจ้างพนักงานราชการในตำแหน่งเภสัชกร ที่มีความประสงค์จะปฏิบัติงานชดใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี 2563 และสำหรับในปี 2564 ยังคงพิจารณาการจ้างเป็นพนักงานราชการ แทนการบรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 350 ตำแหน่งนั้น

 

 

 

ชมรมเภสัชชนบท ได้ติดตามการดำเนินการเพื่อจัดส่งเภสัชกรซึ่งมีสัญญาชดใช้ทุน เพื่อไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบทและต่างจังหวัดพบว่า โดยในปี 2564 นี้มี 62 จังหวัด 218 โรงพยาบาล 40 สำนักงนสาธารณสุขจังหวัดที่ยัง ขาดเภสัชกรไปเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิดกับทีมสหวิชาชีพต่างๆ อีกทั้ง ไม่สามารถไปหมุนเวียน สับเปลี่ยนกับเภสัชกรในระบบซึ่ง มีการโยกย้ายแล้วในรอบปีนี้ ทำให้เกิดภาวะชะงักติดขัดในระบบยาของประเทศ

 

 

โดยเฉพาะงานเร่งด่วนเวลานี้ที่ร่วมกันจัดการวัคซีน ระบบลูกโซ่ความเย็น การเตรียมยาฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน AEFl โดยปัญหาติดขัดคือ

 

 

1.คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยังไม่สามารถประชุม เพื่อสรุปแนวทางกรคัดเลือกพนักงานราชการ ตำแหน่งเภสัชกรได้ ซึ่งชมรมเภสัชชนบทติดตามพบว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ทำเรื่องหารือตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2563

 

 

 

2.กระทรวงสาธารณสุข จะต้องใช้เวลาในการจัดการคัดเลือกและส่งตัวภายหลังได้รับแนวทางการคัดเลือกจากสำนักงาน ก.พ.ประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถส่งตัวเภสัชกรเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ได้ประมาณเดือนกันยายน 2564

 

 

 

ชมรมฯ ประเมินแล้วว่า ระบบสาธารณสุขในพื้นที่ ประชาชน ผู้ป่วยจะเสียประโยชน์ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการจัดส่งเภสัชกรเข้าไปสมทบสหวิชาชีพในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเภสัชกรในระบบโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้โยกย้ายประจำปีแล้ว ทำให้เกิดภาวะชะงักของระบบงาน ขาดอัตรากำลังซึ่งมีไม่เพียงพออยู่แล้วมาโดยตลอด อีกทั้งสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ต้องมีอัตรากำลังมาทดแทนหมุนเวียนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

 

 

 

ในการนี้ จึงมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้เร่งรัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงสาธารณสุข ให้ปรับกระบวนการทำงานในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถจัดส่งเภสัชกรใช้ทุน เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ภายใน 15 กรกฎาคม 2564

 

 

 

เพื่อให้มีเภสัชกรเข้าไปทำงานร่วมกับสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วน การหมุนเวียนทดแทนอัตรากำลังเภสัชกรที่มีการโยกย้ายประจำปีไปแล้ว และสนับสนุนการจัดการวัคซีน ยับยั้งการระบาดของโควิดในพื้นที่ต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง