รีเซต

ตาลีบัน : ถอนทัพจากอัฟกานิสถานเป็นความผิดพลาดของไบเดนหรือไม่

ตาลีบัน : ถอนทัพจากอัฟกานิสถานเป็นความผิดพลาดของไบเดนหรือไม่
ข่าวสด
17 สิงหาคม 2564 ( 12:19 )
105

 

การตัดสินใจสั่งถอนทัพจากอัฟกานิสถานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกมองจากฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำให้ความพยายามทุ่มเทและเสียสละกันมา 20 ปี พังครืนลงไป เปิดทางให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรม และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ

 

หลายคนที่สัมผัสกับความขัดแย้งนี้มาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นชาวอัฟกัน ทหาร และนักการเมือง ไม่ปักใจเชื่อเมื่อประธานาธิบดีไบเดน แสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานจะดูแลความมั่นคงในประเทศได้เอง

 

 

และเมื่อกรุงคาบูลตกอยู่ในกำมือของกลุ่มตาลีบันในที่สุด ทำให้บางคนออกปากว่าอีกไม่นาน ชาวอเมริกันจะเริ่มรู้สึกว่าการตัดสินใจสั่งถอนทัพของนายไบเดนนั้น ถือเป็นความผิดพลาด

แต่ท่าทีของนายไบเดนในเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ใครแปลกใจ เพราะตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา นายไบเดนย้ำมาตลอดว่าควรจำกัดขอบเขตการทำสงครามอยู่แค่ภารกิจที่ต้องทำเท่านั้น

 

 

เมื่อปี 2001 ตอนที่เขายังเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเดลาแวร์ นายไบเดนร่วมลงมติที่เป็นเอกฉันท์ให้สหรัฐฯ ส่งกองกำลังทหารเข้าไปยังอัฟกานิสถาน แต่ไม่เห็นด้วยที่ นายโอบามา มีคำสั่งส่งทหารเข้าไปเสริมกำลังในปี 2009

 

 

"ไบเดน แสดงท่าทีชัดเจนมาก ๆ เรื่องอัฟกานิสถาน" นายเบร็ตต์ บรูเอน อดีตนักการทูตซึ่งเคยเข้าร่วมการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติในยุคนายโอบามาด้วย บอกกับบีบีซี "เขาบอกว่าเราควรจะออกมาจากที่นั่นได้แล้ว"

 

 

ตอนลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2019 นายไบเดน ย้ำระหว่างหาเสียงว่าเขาจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกนับตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ช่วงทศวรรษ 1950 ที่ลูกตัวเองต้องไปประจำการในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

 

G

นายริชาร์ต โฮล์บรูค ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานสมัยโอบามา เล่าไว้ในหนังสือชีวประวัติเขาว่า นายไบเดนเคยบอกเขาด้วยความโกรธเกรี้ยวว่า จะ "ไม่ส่งลูกชายผมกลับไปเสี่ยงชีวิตเพื่อสิทธิของผู้หญิง[ชาวอัฟกัน] ...นั่นไม่ใช่เหตุผลที่พวกเขาต้องไปที่นั่น"

 

 

ขณะที่อดีตนักการทูตอย่างนายบรูเอน บอกว่า แต่สิ่งที่น่าจะมีผลต่อมุมมองของนายไบเดนมากกว่าน่าจะเป็นประสบการณ์ยาวนานในการทำงานด้านนโยบายต่างประเทศ "ช่วงชีวิตของเขานั้นผ่านความขัดแย้งมาหลายเหตุการณ์ ไม่ใช่แค่ที่เวียดนามและอิรัก ยังรวมถึงคอซอวอและเกรเนดา ผมว่าเขามองความท้าทายเหล่านี้อย่างมีสติ แต่ก็รู้สึกอ่อนล้าด้วย"

 

 

ตอนลงสมัครหาเสียงเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 นายไบเดนบอกกับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสในสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ ควรให้คงทหารในอัฟกานิสถานไว้เพียง "เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่ตาลีบัน หรือไอเอส หรืออัลเคดา จะสามารถกลับมาตั้งฐานปฏิบัติการที่นั่นได้อีก"

 

 

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลได้โดยแทบไม่ต้องเผชิญกับแรงต้านทานใด ๆ สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต้องเร่งอพยพคนของตัวเองออกจากพื้นที่

 

 

บทวิเคราะห์โดย จอน โซเปล บรรณาธิการข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือ

หลังเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. 2001 โซเปล เล่าว่าเป็นชั่วขณะที่หลายคนที่เขารู้จักซึ่งมีความคิดเสรีนิยมและก็ไม่ได้ชื่นชอบสิ่งที่สหรัฐฯ เคยทำมา และรู้สึกว่าต้องเลือกข้าง

 

 

"คุณจะอยู่ข้างหลักนิติธรรม การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ความเท่าเทียมทางการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาอย่างถ้วนหน้า หรือคุณจะอยู่ข้างคนที่ขับเครื่องบินพุ่งชนตึก ปาหินใส่คนจนตาย ผลักคนรักเพศเดียวกันให้ตกตึก และห้ามเด็กผู้หญิงไปโรงเรียน"

 

 

เวลาผ่านไปจนถึงปี 2016 บรรณาธิการข่าวบีบีซีผู้นี้มองว่าความเหนื่อยล้าจากสงครามที่ไม่จบไม่สิ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง เขาบอกว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาจะสั่งให้ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานมาเร็วกว่านี้

โซเปลมองว่า แม้นายไบเดนต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่นายทรัมป์ให้ไว้ หนทางเชิงนโยบายที่นายไบเดนสามารถทำได้ง่ายที่สุดคือจ่ายเงินเดือนให้ทหารอเมริกันอยู่ที่นั่นต่อไปอีกสักปี แล้วก็อาจจะให้อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ทีละปี

 

 

"แรงกดดันทางการเมืองที่ [นายไบเดน] ต้องเผชิญไม่ได้มากเลย อาจจะตรงข้ามด้วยซ้ำ" จอน โซเปล ระบุ "เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหม สถาบันด้านนโยบายต่างประเทศ รวมถึงเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในต่างประเทศมองว่าการเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ถือเป็นการประมาทเกินไป"

 

 

โซเปล มองว่า นี่อาจเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดตลอดสมัยการเป็นประธานาธิบดีของนายไบเดนเลยก็ว่าได้

 

 

"20 ปีผ่านไป มีผู้เสียชีวิตไปมากมาย และก็มีการใช้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออะไรกัน สิ่งที่บรรลุคืออะไร คุณจะไปบอกกับครอบครัวของทหารที่ถูกกลุ่มตาลีบันฆ่าตายว่าอย่างไรในเมื่อตอนนี้สหรัฐฯ ยอมแพ้แล้ว"

 

 

โซเปลยังตั้งคำถามอีกว่า จะสามารถหยุดยั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายไม่ให้กลับมาก่อตั้งค่ายฝึกนักรบจิฮัดได้อย่างไร และในระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ศุกร์ที่ผ่านมา มีรายงานแล้วว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายมากกว่า 20 กลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วยนักรบต่างชาติหลายพันคน ที่เข้าร่วมกับกลุ่มตาลีบัน

 

 

G

โซเปลมองว่า มีความแตกต่างกันระหว่างการเป็น "ตำรวจของโลก" กับ "ผู้รักษาสันติภาพโลก" โดยยกตัวอย่างว่ายังมีทหารอเมริกันหลายพันคนประจำการอยู่ที่เกาหลีใต้แม้สงครามเกาหลีจะผ่านไปแล้วถึง 70 ปี

 

 

"ประธานาธิบดีคนที่ผ่าน ๆ มาคาดการณ์ว่าสันติภาพที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดก็ยังดีกว่าสงครามที่ร้อนระอุ หรือภูมิภาคที่ไร้ความมั่นคง"

 

 

"โจ ไบเดน คาดหวังว่าการตัดสินใจของเขาจะทำให้เกิดพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า "สงครามอัฟกานิสถานสิ้นสุดแล้ว" หรือ "สงครามที่ยาวนานที่สุดของอเมริกาจบสิ้นลงแล้ว" แต่ 20 ปีผ่านไป และตอนนี้ที่ตาลีบันเข้าควบคุมประเทศแล้ว… นักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจจะหันกลับมามองได้ไหมว่าวันครบรอบ 20 ปี เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอัฟกานิสถานครั้งที่ 2"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง