รีเซต

คืบหน้า วัคซีนโควิด-19 แบบฉีดพ่นของจีน มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนเข็มแรก

คืบหน้า วัคซีนโควิด-19 แบบฉีดพ่นของจีน มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนเข็มแรก
TNN World
29 กรกฎาคม 2564 ( 15:57 )
139
คืบหน้า วัคซีนโควิด-19 แบบฉีดพ่นของจีน มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนเข็มแรก

Editor’s Pick: วัคซีนต้านโควิด-19 แบบฉีดพ่นของจีนมีความคืบหน้ามากที่สุด ในกลุ่มวัคซีนทางเลือกที่ TNN World เคยนำเสนอไป

 


วารสารทางการแพทย์ชื่อดัง ได้เผยผลการทดลองคลินิกของวัคซีนแบบฉีดพ่นเป็นครั้งแรกของโลก เป็นวัคซีนที่สถาบันการแพทย์ทหารของจีน พัฒนาร่วมกับบริษัทยาเอกชน และอาจจะออกสู่ตลาดโลกเป็นเจ้าแรกก็เป็นได้

 

 

ฉีดเข้าจมูก 1 ครั้ง เท่าวัคซีนแบบเข็ม 20%


The Lancet วารสารทางการแพทย์ชื่อดังของสหราชอาณาจักรเผยแพร่ผลการทดลองทางคลินิก ระยะที่ 1 ของวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบฉีดพ่นของจีนว่า ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 กรกฎาคม) และนี่เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการเผยแพร่ข้อมูลการทดลองทางคลินิกของวัคซีนแบบ ‘ฉีดพ่นใส่เยื่อเมือก’

 


วัคซีนตัวนี้มีชื่อว่า ‘แอดไฟว์ เอ็นโควี’  (Ad5-nCoV) โดยผลการศึกษาพบว่า หากฉีดพ่นวัคซีน 1 ครั้ง จะใช้ปริมาณยาเพียง 1 ใน 5 ของวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้สูง

 


หากฉีดพ่นวัคซีน 2 ครั้ง จะให้ประสิทธิภาพคล้ายกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อแบบปัจจุบัน 1 เข็ม และหากใช้วัคซีนแบบฉีดพ่น หลังจากฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเข็มแรก 28 วัน ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้มากขึ้น

 


วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอดไฟว์ เอ็นโควี  (Ad5-nCoV) ชนิดฉีดพ่นนี้ ถูกพัฒนาโดยทีมวิจัยจากสถาบันการแพทย์ทหาร สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การทหาร พัฒนาร่วมกับและบริษัท CanSino Biologics

 

 

 

อาการไม่พึงประสงค์น้อยกว่าแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ


การทดลองทางคลินิกมีขึ้นที่โรงพยาบาลจงหนาน เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย โดยสุ่มแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อรับวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดพ่น หรือทั้งสองอย่าง   

 


ผลการทดลองระบุว่า ผู้ที่เข้าร่วมการทดลอง ที่ได้รับวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างเดียว รวมถึงผู้ที่รับวัคซีนทั้งสองแบบ มีอาการไม่พึงประสงค์ 49 คน จาก 78 คน หรือคิดเป็น 63%

 

 
ขณะที่ ผู้ที่รับวัคซีนแบบฉีดพ่นครั้งแรก มีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น 13 จาก 52 คน หรือคิดเป็น 25%
ด้านตัวแทนจาก CanSino Biologics ระบุว่า การฉีดพ่นวัคซีนต้านโควิด 2 โดส ไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเกิดขึ้น

 

 

 

วิธีการทำงานของวัคซีนแบบฉีดพ่น


ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อฉีดพ่นวัคซีนแล้วสูดเข้าไปในทางเดินหายใจและปอด จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจของผู้ที่ได้รับวัคซีน 

 


ข้อดีของวัคซีนแบบฉีดพ่น


- ไม่มีอาการปวดบวม เหมือนการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กและกลุ่มเปราะบาง


- ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์กรณีได้รับวัคซีนแบบฉีด 


- เมื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นและป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้


-  ปริมาณยาที่ใช้น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทำให้ลดแรงกดดันในการผลิต

 

 


ประสิทธิภาพไม่ต่างจากวัคซีนแบบเข็ม


Reuters รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วัคซีนชนิดฉีดพ่น และวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แตกต่างเพียงกันเพียงอย่างเดียวคือ วิธีนำเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นสูตรของวัคซีน บรรจุภัณฑ์ และโรงงานผลิต จะเหมือนกันทุกอย่าง

 


ขณะที่ The Global Times รายงานว่า วัคซีนแบบฉีดพ่น มีสูตรที่ไม่แตกต่างจากวัคซีนต้านโควิด ‘แอดไฟว์ เอ็นโควี’ แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อของ Cansino มีการใช้งานอยูขณะนี้  

 


วัคซีนต้านโควิดแบบ ฉีดพ่น ‘แอดไฟว์ เอ็นโควี’ กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 แล้ว

 

 

 

รู้จัก วัคซีน CanSino


วัคซีนแคนซิโน (CanSino) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า แอดไฟว์ เอ็นโควี (AD5-nCOV) หรือชื่อทางการค้า “คอนวิดีเซีย” (Convidecia) ผลิตโดยบริษัท CanSino Biologics 

 


เป็นวัคซีนแบบฉีดเข็มเดียวที่ผลิตโดยใช้อะดีโนไวรัสชนิด 5 (Adenovirus type 5) และใช้เทคโนโลยีไวรัลเวกเตอร์ (viral vector vaccine) นั่นคือ ใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนแอลงจนไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโควิดลงไป แล้วฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน

 


นี่เป็นเทคโนโลยีในการผลิต แบบเดียวกับ AstraZeneca, Johnson & Johnson, และ Sputnik V 
วัคซีน CanSino ได้อนุมัติใช้ที่จีน และบางประเทศแล้ว เช่น ฮังการี ปากีสถาน และเม็กซิโก ล่าสุด มาเลเซียเพิ่งอนุมัติใช้วัคซีนตัวนี้ไปเมื่อเดือนที่แล้ว

 

 


วัคซีนต้านโควิดไร้เข็ม ความหวังโลก


นอกจากวัคซีนแบบฉีดพ่นของจีน ขณะนี้นักวิจัยชาวสวีเดนก็กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดชนิดผงแห้ง สำหรับฉีดพ่น   
ขณะที่อินเดียก็กำลังพัฒนาวัคซีนแบบฉีดพ่น เพื่อสร้าง "ภูมิคุ้มกันเยื่อเมือก" เช่นกัน

 


นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนต้านโควิดแบบเม็ดสำหรับรับประทาน ของ Oravax Medical ที่กำลังทดสอบขั้น ‘พรีคลินิก’ หรือทดลองในสัตว์กับโควิดหลายสายพันธุ์รวมถึง Delta ด้วย และกำลังเตรียมพร้อมที่จะเริ่มการทดลองทางคลินิกครั้งแรกในอิสราเอล 

 


ส่วนที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย นักวิจัยก็กำลังพัฒนาวัคซีนต้านโควิดแบบแปะบนผิวหนัง โดยใช้ตัวยาจากสหรัฐฯ พบว่าการใช้วัคซีนดังกล่าวในหนูทดลองได้ประสิทธิภาพดี และไม่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่เย็นมาก ๆ ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง