GLOBALink | เหอหนานพบ 'สุสานชนเผ่า' เก่า 3,000 ปี
เจิ้งโจว, 6 ม.ค. (ซินหัว) -- สถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน เปิดเผยการค้นพบกลุ่มหลุมศพขนาดใหญ่จากยุคปลายราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในหมู่บ้านเซ่าเจียเผิงของเมืองอันหยาง
หมู่บ้านเซ่าเจียเผิงอยู่ห่างจากซากโบราณอิน (Yin Ruins) อันเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ราว 2.4 กิโลเมตร เชื่อกันว่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเช่อในยุคราชวงศ์ซาง โดยมีการค้นพบตัวอักษรจีน "เช่อ" ในจารึกบนเครื่องสัมฤทธิ์ของกลุ่มหลุมศพดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้การมีอยู่ของชนเผ่า
การขุดค้นโบราณสถานข้างต้นนาน 2 ปี ได้ค้นพบฐานสิ่งปลูกสร้าง 18 แห่ง หลุมศพ 24 หลุม หลุมฝังม้าและรถม้า 4 หลุม พร้อมด้วยโบราณวัตถุต่างๆ อาทิ เครื่องสัมฤทธิ์อันวิจิตรงดงาม หยกและหิน ภาชนะกระดูกสัตว์ และหอยแมลงภู่
มีการค้นพบรถม้า 6 คัน รวมถึงหุ่นทหารและม้าจำนวนหนึ่งถูกฝังไว้กับศพในหลุมข้างต้น โดยหุ่นทหารบางส่วนสวมหมวกที่มีสายรัดเปลือกหอย ส่วนหน้าผากของม้าบางตัวประดับด้วยแผ่นไม้เคลือบทองคำและรองด้วยแผ่นสัมฤทธิ์
"สิ่งเหล่านี้นับว่าหายากมาก เมื่อเทียบกับการค้นพบอื่นๆ ในเมืองอันหยาง สะท้อนสถานะและอำนาจของผู้เป็นเจ้าของรถม้า" ข่งเต๋อหมิง ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าว
คณะนักวิจัยยังคงเดินหน้าไขปริศนาลึกลับที่เหลืออยู่ของโบราณสถานแห่งนี้ อาทิ สถานะทางสังคมของชนเผ่าเช่อ การแบ่งงานในสังคม และความสัมพันธ์ของชนเผ่ากับราชวงศ์ซาง
ทั้งนี้ ข่งระบุว่าโบราณวัตถุจากกลุ่มหลุมศพแห่งนี้มีความหลากหลายและอยู่ในสภาพดี ทำให้มีนัยสำคัญยิ่งยวดต่อการศึกษาขอบเขตและแผนผังซากโบราณอิน