รู้หรือไม่? โรคต้อหิน เป็นแล้วรักษาได้ รีบหาหมอก่อนตาบอด
"ต้อหิน" เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการมองเห็นชนิดถาวรที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร ต่อมาลานสายตาจะค่อยๆ แคบลง ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ "ตาบอด" ได้ในที่สุด ที่สำคัญก็คือโรคนี้เมื่อมีการสูญเสียการมองเห็นแล้ว จะไม่กลับคืนมาเป็นปกติได้ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ทำได้มากที่สุดก็คือ ควบคุมไม่ให้ลุกลามมากขึ้นจากวันที่ตรวจพบ
กลุ่มเสี่ยงเป็น "ต้อหิน"
- ทุกเพศทุกวัย พบได้มากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
- ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ
- ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ทั้งชนิดยาหยอดตา ยาฉีด ยาพ่นหรือยากิน
- ผู้ที่เป็นต้อกระจกจนสุก
* ผู้ที่ใช้สายตามากๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งการได้รับแสงสีฟ้าไม่ได้มีผลต่อการเกิดโรคต้อหินแต่อย่างใด *
สาเหตุที่ทำให้เกิด "ต้อหิน"
ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเสื่อมของร่างกายเอง โรคต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงทำลายของขั้วประสาทตา ไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรือพบร่วมกับโรคทางตาอื่นๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆ ในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่นๆ
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ "ความดันในลูกตา" ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากความเสื่อมข้างในลูกตาหรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ อุบัติเหตุหรือการผ่าตัด
ขณะเดียวกัน ความดันตาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคต้อหิน ความดันตาถูกควบคุมโดยสารน้ำในตา ถ้าอัตราการสร้างสารน้ำไม่สมดุลกับการระบายออก ความดันตาก็จะสูง ส่งผลให้ขั้วประสาทตาผิดปรกติ ลานสายตาแคบลง และตามัวได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้อหินต้องได้รับการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องตรวจลานสายตาเพื่อใช้ ในการวินิจฉัยและติดตามการรักษา ผู้ป่วยต้อหินบางรายอาจสังเกตการสูญเสียของ ลานสายตาได้ด้วยต้นเองส่วนมากจะเสียรอบนอกแล้วค่อยๆเป็นมากขึ้นเข้าสู่ตรงกลาง
ดังนั้น การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ในผู้ที่มี ปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงเป็นการป้องกันภาวะตาบอดจากต้อหินได้ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยต้อหินเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวอย่างรวดเร็ว โดย อาจพบอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยก็ได้
การรักษา "ต้อหิน"
1. ใช้ยา เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด เพราะสะดวก ปลอดภัย ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ปัจจุบันมียาหยอดตารักษาโรคต้อหินหลายชนิด โดยผู้ป่วยอาจเริ่มใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน
2. ใช้แสงเลเซอร์ ประกอบด้วย การใช้แสงเลเซอร์เจาะรูที่ม่านตาเพื่อป้องกัน หรือรักษาโรคต้อหินเฉียบพลันในผู้ที่มีมุมตาปิด การยิงเลเซอร์ที่มุมตาเพื่อลดความดันตาในผู้ป่วย ต้อหินมุมตาเปิด เป็นต้น
3. การผ่าตัด การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัดมุ่งเน้นที่การทำช่องระบายน้ำภายในลูกตา เพื่อลดความดันตา มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตา
การผ่าตัดรักษาต้อหินมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด Trabeculectomy การผ่าตัดใส่อุปกรณ์ระบายน้ำสำหรับต้อหิน นอกจากนี้ การผ่าตัดต้อกระจกอาจใช้รักษาต้อหินบางชนิดได้ ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัดต้อหินชนิดใหม่ๆอีกหลายวิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีผ่าตัดต้อหินวิธีใดนั้น ขึ้นกับสาเหตุและระยะของโรคต้อหิน
** สิ่งที่สำคัญที่สุดที่แพทย์มักจะเน้นย้ำนั่นก็คือ หากตรวจพบ "ต้อหิน" เร็ว ก็จะสามารถรักษาการมองเห็นไว้ได้นานขึ้น ถ้าตรวจพบช้า มีการสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว ไม่สามารถจะนำกลับมาเป็นเหมือนได้ **
ขอบคุณข้อมูลจาก
รศ. นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อ.พญ. ดารินทร์ สากิยลักษณ์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับสังเกตลูกน้อย อาการแบบไหนติดเชื้อไวรัส RSV
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE