ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 69 ขาดดุล 8.6 แสนล้าน
ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 69 ขาดดุล 8.6 แสนล้าน หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง โดยมีวงเงินรายจ่ายที่ 3.78 ล้านล้านบาท ขณะที่ คลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดทั้งปี
#ทันหุ้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 จำนวน 3.780 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท ลดต่ำกว่าปี 2567 ราว 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณปี 2569 ที่ผ่านความเห็นชอบของ 4 หน่วยงานทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณ จะต้องเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึง 30 กันยายน 2569 เป็นกรอบวงเงินงบประมาณที่สูงกว่า ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 2.79 หมื่นล้านบาท
วงเงินการขาดดุลงบประมาณปี 2569 กำหนดรายได้ที่รัฐบาลคาดว่าจะจัดเก็บได้ 2.92 ล้านล้านบาท สูงกว่าคาดการณ์รายได้ในปีงบประมาณปี 2568 จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณในปี 2569 ยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลไม่เกิน 8.6 แสนล้านบาท เทียบกับการขาดดุลในปีงบประมาณ 2568 ที่ขาดดุลจำนวน 8.65 แสนล้านบาท
การจัดสรรงบประมาณปี 2569 กำหนดการจัดสรรงบที่เป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.645 ล้านล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ รายจ่ายเพื่อการลงทุน รัฐบาลยังไม่ได้เปิดเผย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การขาดดุลงบประมาณที่อยู่ในระดับสูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า ทั้งนี้ ขั้นตอนกระบวนการที่จะตั้งงบประมาณต้องดูวินัยการคลัง ต้องดูสัดส่วนตามที่กฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนด กรอบการขาดดุลต่างๆนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยขั้นตอนต่อไปก็ต้องมีการดูในเรื่องของงบประมาณที่เสนอเข้ามาและจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมต่อไป
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐบาลยังจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโมเมนตั้มให้กับเศรษฐกิจ โดยก่อนวันที่ 29 มกราคมนี้ กระทรวงการคลัง จะแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มคนสูงอายุ60 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 4 ล้านคน และในช่วง Low season ก็จะเตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกรอบ
สำหรับกรอบเงินเฟ้อในปี 2568 ที่กระทรวงการคลัง และ ธปท. ร่วมกำหนดกรอบไว้ที่ 1 -3% นั้น มีการหารือระหว่างสองหน่วยงานดังกล่าวว่า ต้องการให้เงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ค่ากลางที่ 2 % ขณะที่ เงินเฟ้อในปี 2567อยู่ที่ 0.4 % ซึ่งต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อ
“เหตุผลที่ ธปท.ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยบอกว่าในที่สุด เงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2567 แต่ในที่สุด เงินเฟ้อในปีที่แล้วก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายเยอะ เป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจ” นายเผ่าภูมิกล่าว