เงินพระ vs เงินวัด ต่างกันอย่างไร? เช็กหลักการใช้ที่ควรรู้

15 พฤษภาคม 2568 ( 18:31 )
8
แยกให้ชัด “เงินพระ” คือเงินส่วนตัวที่พระใช้ได้เอง “เงินวัด” เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ต้องใช้ตามมติกรรมการวัด ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ทำบุญ “เงินพระ - เงินวัด” แตกต่างกันอย่างไร?
การถวายเงินในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ชาวพุทธทำด้วยศรัทธา แต่หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าเงินที่ถวายจะถูกจัดประเภทอย่างไร ใครเป็นผู้มีสิทธิใช้ และควรระบุเจตนาแบบไหนจึงจะตรงวัตถุประสงค์ ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง “เงินพระ” และ “เงินวัด” ไว้อย่างชัดเจน
เงินส่วนตัวของพระ
- เป็นเงินที่ได้รับจากการกิจนิมนต์ เช่น งานทำบุญบ้าน งานบวช หรืองานศพ
- เมื่อผู้ถวายเจาะจงว่าให้พระภิกษุรูปใดโดยเฉพาะ เงินนั้นถือเป็นของส่วนตัวของพระรูปนั้น
- พระสามารถนำไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ เช่น ค่าเดินทาง ค่ายารักษาโรค หรือใช้ตามสมณศักดิ์
- เงินประเภทนี้เรียกว่า “นิยโภคี” ซึ่งถือว่าพระสามารถครอบครองและใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของวัด
เงินวัด
- เป็นเงินที่ญาติโยมถวายโดยไม่เจาะจงพระรูปใด เช่น หยอดตู้บริจาค หรือถวายโดยกล่าวว่า “ถวายวัด”
- เงินนี้ถือเป็นทรัพย์ของวัด ต้องโอนเข้าบัญชีวัด และถือเป็นทรัพย์ส่วนรวม
- การเบิกจ่ายจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัดอย่างน้อย 2-3 คน
- ใช้เพื่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัด เช่น การบูรณะอาคารศาสนา งานสาธารณูปโภค หรือกิจกรรมเพื่อศาสนิกชน
เจตนาในการถวาย คือตัวกำหนดเงินจะไปที่ใด
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจตนาของผู้ถวาย หากตั้งใจให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยตรง เงินนั้นจะถือเป็นของพระ แต่หากถวายโดยไม่เจาะจง เงินจะถือเป็นสมบัติของวัดและต้องอยู่ภายใต้การบริหารตามระเบียบ