จริงหรือไม่ ? คนไทยชอบบริจาค-ทำบุญ ดันตลาดการกุศลโตต่อเนื่อง 1,500,000 ล้านบาท

มูลค่าตลาด 1.5 แสนล้าน เงินบริจาค เงินทำบุญ ในประเทศไทย
กระแสข่าวดราม่าร้อนเรื่องวงการสงฆ์ในขณะนี้จะพบว่ามีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องจำนวนมหาศาล สะท้อนให้เห็นว่าวัดยังเป็นแหล่งรับบริจาคที่คนไทยนิยมทำบุญ ดังนั้นเมื่อเจาะลึกไปถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจ จะพบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการทำบุญ หรือบริจาค และช่วยเหลือคนอื่น ครัวเรือนไทย แบ่งเงินถึง 1% ในทุกเดือนเพื่อกิจกรรมทางศาสนา ขณะที่ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่ามูลค่าตลาดกุศลก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2% ในทุกปี และคาดว่าปีนี้จะพุ่งไปกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดการกุศลในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีละ 2% ซึ่งตลาดที่ว่านี้ รวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญและบริจาค ตั้งแต่ วัด คน ไปถึงสัตว์ยากไร้ รวมไปถึงการช่วยเหลือผ่านมูลนิธิ และการบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ โดยมูลค่าตลาดประมาณการจากรายรับขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงกำไร เช่น องค์การบริการสังคมสงเคราะห์ องค์การทางศาสนา องค์การฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 ตลาดการกุศล มีมูลค่า 129,000 ล้านบาท ผ่านมาถึงปีนี้ปี 2568 คาดว่าตลาดการกุศล จะพุ่งไป 150,000 ล้านบาท ผ่านมาประมาณ 8 ปี เท่ากับว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 2% ต่อปี
4 สาเหตุ+แรงจูงใจ ทำเงินการกุศลสะพัดแสนล้าน
สาเหตุที่ตลาดการกุศลมีเงินสะพัดมากกว่าแสนล้าน ประกอบไปด้วยแรงจูงใจหลัก 4 ข้อด้วยกัน คือ
1. การทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา มีข้อมูลระบุว่าทุกๆเดือนคนไทยจะต้องมีค่าใช้จ่าย 1% ของครัวเรือน ที่นำใช้ไปกับกิจกรรมทางศาสนา
เช่น รายได้รวมกันอยู่ที่ 10,000 บาท ก็จะใช้เงินไปกับการทำบุญประมาณ 100 บาทต่อเดือน
2.การช่วยเหลือสังคมผ่านการทำ CSR หรือ Corporate Social Responsibility หมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ปัจจุบันนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างก็ต้องทำ CSR เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีซึ่งจะมีการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน รวมไปถึงการตั้งมูลนิธิ และการบริจาคต่างๆ เช่น ช่วยเรื่องการศึกษา ช่วยผู้ด้อยโอกาส
3.การบริจาคในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งเราจะเห็นทุกครั้งที่เกิดเหตุภัยพิบัติ แทบทุกหน่วยงานจะมีการเปิดรับบริจาค และลงพื้นที่ช่วยเหลือ
4.การนำไปลดหย่อนภาษี เนื่องจากกฎหมายในเมืองไทย ให้ประชาชนลดหย่อนภาษีจากการบริจาคได้ เช่น ลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าสำหรับการบริจาคเพื่อการศึกษา และโรงพยาบาล จึงทำให้คนไทยบริจาคเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีมากกว่า 5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
3 เทรนด์ ทำบุญ-บริจาคเงิน
ขณะเดียวกันการทำบุญ หรือการให้ และการบริจาคก็เป็นสิ่งมาจากกระแส หรือเทรนด์ในสังคมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่พลังสังคมส่วนหนึ่งขับเคลื่อนมาจากสื่อดิจิทัลหรือโซเชียลมีเดียที่มีไวรัลต่างๆมากมาย ทั้งนี้ในปัจจุบันนี้มีเทรนด์การบริจาคใหม่ๆ ที่น่าจับตา 3 เทรนด์ด้วยกัน คือ
1. New Motivation : แรงจูงใจแบบใหม่ๆ คนสมัยก่อนทำบุญ อาจจะนึกถึงแค่วัด แต่ยุคนี้มีแรงจูงใจอีกหลายด้าน ได้แก่ การบริจาคช่วยสัตว์ การบรรเทาสาธารณภัย การบริจาคออนไลน์ (Online Donation)
2. New Target : กลุ่มเป้าหมายใหม่มาแรง คือ คนรุ่นใหม่ GEN Z คนรุ่นใหม่ก็ช่วยเหลือคนอื่นเช่นกัน แต่เน้นการให้ที่ตรงเป้าหมายและโปร่งใส
3. New Collaboration : การร่วมมือข้ามวงการ เช่น Tech Startup จับมือ NGOs สร้างแพลตฟอร์มบริจาคที่ตรวจสอบได้ และสร้างประสบการณ์การกุศลแบบใหม่ เช่น ระบบ Tracking เงินบริจาค หรือ NFT การกุศล เช่น บริจาคพ้อยท์ บริจาคคอยน์ หรือแต้มที่มีอยู่แทนเงินสด
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังให้มุมมองที่น่าสนใจอีกว่า ทิศทางของตลาดการกุศลจะโตต่อหรือไปไหนทางไหน อยู่ที่ 4 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่
1. การสร้างความน่าเชื่อถือผ่านความโปร่งใส (Trust & Transparency) :
เช่น การเผยแพร่ข้อมูล หรือรายละเอียด การใช้เงินที่โปร่งใส และตรวจสอบได้
2. การขยายวัตถุประสงค์สู่ผลลัพธ์ระยะยาว (Long-term Impact) :
ผู้บริจาคยุคใหม่มองหาการลงทุนทางสังคมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนระยะยาว เช่น การศึกษา และการแพทย์ หรือการส่งเสริมระบบสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่ต้นเหตุ
3.การนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่สร้างสรรค์และจูงใจ (Creative Incentives) :
เช่น การเพิ่มหรือขยายมาตรการลดหย่อนภาษีจากการบริจาคออกไปอีก หรือเมื่อบริจาคแล้วจะได้ส่วนลดร้านค้า หรือของที่ระลึกตอบแทนด้วย
4.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีกลยุทธ์ (Strategic Technology Application) :
เช่น การบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
รัฐบาลไทย เร่ง "จัดระเบียบ" เงินวัด
คนไทยสายพุทธ ยังคงนิยมทำบุญที่วัดเป็นหลัก ยิ่งวัดดัง เงินยิ่งมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดกระแสดราม่า เรื่องการใช้เงินของพระในทางที่ไม่เหมาะสมออกมาอย่างต่อเนื่อง จนถูกสังคมตั้งคำถาม และเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบทั้งระบบ
รัฐบาลกำลังเร่งหาทางกอบกู้ศรัทธาและจัดระเบียบวัดในประเทศไทย หลังจากเหตุการณ์ช็อคสังคมอย่างรุนแรง กรณีที่มีสีกาหรือผู้หญิงมีสัมพันธ์ลึกซึ่งกับพระในระดับชั้นผู้ใหญ่หลายรูป จนต้องมีการลาสิขาอย่างต่อเนื่องนับ 10 รูป และดำเนินคดี ซึ่งผู้หญิงที่ก่อเหตุดังกล่าวมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 300 ล้านบาท และสังคมมองว่าเงินเหล่านี้มาจากวัดหรือจากพระทั้งนั้น
นายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยถึง มาตรการที่จะการควบคุมทางการเงินของและวัดว่า ล่าสุดทางสำนักงานพระพุทธศาสนา ได้ออกกฎกระทรวง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายวันที่ 1 ตุลาคม 2568 กำหนดให้เงินทุกบาทจะต้องเข้าในบัญชีวัดเท่านั้น พระจะถือเงินสดได้ไม่เกิน 100,000 บาท และทุกบัญชีจะต้องฝากไว้กับธนาคารในพื้นที่นั้นๆ พร้อมทั้งในทุกเดือนจะต้องรายงานบัญชีรายรับรายจ่าย รายการยอดที่เหลือแต่ละเดือน และต้องรายงานทางการเงินประจำทุกปี ซึ่งในขณะนี้ทางสำนักพุทธฯ กำลังร่างระเบียบ กำหนดบังคับให้วัดทุกแห่งปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนมีบทโทษตามขั้นตอน
ทั้งนี้ข้อมูลจากคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าประเทศไทยมีวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาทั่วประเทศ 43,563 วัด ในปี 2566 ขณะที่จำนวนพระสงห์และสามเณร มีอยู่ทั้งหมด 290,143 รูป
จังหวัดที่มีวัดมากที่สุดในประเทศ
อันดับ 1 นครราชสีมา 2,216
อันดับ 2 อุบลราชธานี 1,929
อันดับ 3 ร้อยเอ็ด 1,687
อันดับ 4 อุดรธานี 1,594
อันดับ 5 ขอนแก่น 1,589
วัดร้างในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 5,678 วัด โดย 5 จังหวัด ที่มีวัดร้างสูงสุด ได้แก่
อันดับ 1 เชียงใหม่ 924 วัด
อันดับ 2 พระนครศรีอยุธยา 501 วัด
อันดับ 3 สุโขทัย 342 วัด
อันดับ 4 นครศรีธรรมราช 331 วัด
อันดับ 5 ลำพูน 272 วัด
นอกจากนี้ก็ยังมีวัดใหม่ๆ ตั้งเพิ่มขึ้นมาในทุกปี เช่น ล่าสุด ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 6/2568 มีคำขออนุญาตตั้งวัด 130 ราย แบ่งเป็น วัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย รวม 76 วัด และวัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต รวม 54 วัด ซึ่งการตั้งวัดใหม่กระจายในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชุมชนขยายตัว หรือพื้นที่เศรษฐกิจเติบโต สิ่งสำคัญ คือ ในแง่ของการใช้จ่ายเงินเพื่อทำบุญ ที่อาจจะเป็นพุทธพาณิชย์ได้ หรือพูดง่ายๆว่ามีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหารายได้ มากกว่าการเผยแผ่พระศาสนา หรือการสอนให้คนเป็นคนดี การเป็นที่พึ่งแก่จิตใจ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
