รีเซต

โค้งสุดท้ายปี2563 ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?

โค้งสุดท้ายปี2563   ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?
TNN ช่อง16
29 ตุลาคม 2563 ( 09:44 )
1.2K


การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง ส่งผลให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการพิเศษสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของนโยบายการคลัง วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และส่วนของนโยบายการเงิน ในรูปสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและกองทุนตราสารหนี้ วงเงิน 9 แสนล้านบาท แต่มาตรการทั้งสองส่วนก็มีอัตราการอนุมัติและการเบิกจ่ายอยู่ในระดับต่ำ 

โดยในส่วนของมาตรการด้านการคลังมีการเบิกจ่ายไม่ถึงครึ่งหนึ่ง โดยสาเหตุหลักเกิดจาก (1) ความล่าช้าของกระบวนการ ตั้งแต่การพิจารณาไปจนถึงการอนุมัติและเบิกจ่าย โดยเฉพาะงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือนนับตั้งแต่การประกาศใช้ แต่การอนุมัติกลับอยู่ที่ 29% ของงบประมาณเท่านั้น  

(2) เงื่อนไขของมาตรการที่ไม่เอื้อให้เกิดการใช้อย่างเป็นวงกว้าง เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งอยู่ภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาทข้างต้น หลังจากมีมาตรการออกมาแล้ว 3 เดือนยังมียอดการใช้สิทธิ์เพียง 30% ของทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ ทำให้ล่าสุดมีการปรับเงื่อนไขและขยายช่วงเวลาใช้สิทธิ์ไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564  

ส่วนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มียอดการใช้วงเงินเพียง 24% ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการ เพื่อทำให้ธุรกิจเข้าถึงวงเงินในส่วนนี้ได้มากขึ้น 


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน โค้งสุดท้ายปี2563   ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?

ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนและวงเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไป รัฐบาลจึงประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือนในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงที่เหลือของปี (ตุลาคม – ธันวาคม) รวม 3 มาตรการ ได้แก่ 

(1) มาตรการช้อปดีมีคืน หรือมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 

(2) โครงการคนละครึ่ง มีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าค้าทั่วไปให้กับประชาชน 50% แต่ไม่เกินคนละ 150 บาทต่อวัน รวมตลอดระยะเวลาไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ ความคืบหน้าโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ได้เปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเต็มจำนวน 10 ล้านคนแล้ว  เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ซึ่งระบบจะทำการตรวจสอบและส่ง SMS แจ้งยืนยันสิทธิโดยเร็ว  สำหรับยอดลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและยอดผู้ได้รับสิทธิที่ถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน จะมีการรวบรวมมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 4 แสนร้านค้า และมียอดการใช้จ่ายสะสม 1,255.44 ล้านบาท  และมีการใช้จ่ายครบทุกจังหวัด โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

และ (3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่ออุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น อุปกรณ์การศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม โดยเพิ่มให้คนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 300 บาทต่อเดือน เป็น 800 บาทต่อเดือน และกลุ่มผู้ที่มีรายได้ 30,000 - 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 200 บาทต่อเดือน เป็น 700 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมในแต่ละโครงการจะสามารถเข้าร่วมได้เพียงโครงการเดียวเท่านั้น



KKP Research ประเมินว่าผลของมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่สูงมากนักโดยคาดว่า การใช้จ่ายผ่านทั้ง 3 มาตรการ  จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 1.07 แสนล้านบาท  ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้ว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท  

 โดย สศค. คาดว่ากำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นภายใต้มาตรการกระตุ้นรอบใหม่นี้ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการช้อปดีมีคืนเป็นเงิน 111,000 ล้านบาท  จากโครงการคนละครึ่ง 60,000 ล้านบาท และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมอีก 21,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 192,000 ล้านบาท

ขณะที่ KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นในรอบนี้แม้จะมีการใช้จ่ายตามมาตรการ แต่อาจนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ “ไม่มากเท่า” ที่รัฐบาลคาดไว้    โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ด้วยสาเหตุหลัก 3 ประการคือ

 

 1. กำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากจากภาวะการว่างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ถูกกระทบอย่างหนัก จากสถานการณ์ COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยสถานการณ์การจ้างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าถึงแม้จำนวนคนตกงานจะมีเพียง 7.5 แสนคนในเดือนมิถุนายน คิดเป็นอัตราการว่างงานเพียง 1.9%  แต่มีแรงงานอีก 2.5 ล้านคนที่ต้องหยุดงานชั่วคราว และอีก 7.6 ล้านคนที่ทำงานไม่เต็มเวลาคือน้อยกว่า 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (Underemployed)  สามกลุ่มนี้รวมคิดเป็น 30% ของแรงงานไทยทั้งหมด และถึงแม้ตัวเลขจะปรับดีขึ้นบ้างในเดือนล่าสุดคือเดือนสิงหาคม แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 22% ของแรงงานทั้งหมด สะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานไทยและรายได้ของผู้คนที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่หายไป  

ที่น่ากังวลคือ หากสถานการณ์ความซบเซาของเศรษฐกิจยังคงลากยาวออกไป แม้ผู้ประกอบการหลายรายจะพยายามประคับประคองธุรกิจไว้และยังไม่เลิกจ้างแรงงาน แต่ใช้วิธีลดเวลาการทำงานแทน สุดท้ายธุรกิจอาจต้องตัดสินใจปิดตัวลงและเลิกจ้างในที่สุด  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะกระตุ้นกำลังซื้อในภาวะที่การจ้างงานและรายได้มีความไม่แน่นอนสูงทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานเอง 

2. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเดิมที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้ว(Existing demand) เพียงเลื่อนช่วงเวลาการใช้จ่ายให้อยู่ในระยะเวลาของมาตรการเพื่อรับสิทธิประโยชน์เท่านั้น ส่วนหนึ่งจากความระมัดระวังการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ได้ไม่มากนัก

3. ในแง่ของการกระตุ้น GDP ส่วนหนึ่งจะรั่วไหลไปกับการนำเข้าสินค้า ซึ่งไม่นับรวมอยู่ใน GDP ของไทย (Import leakage) แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในธุรกิจค้าปลีกและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้กระเตื้องขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด แต่สินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอาจไม่สามารถนับเป็นผลต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งจะเป็นการซื้อสินค้าราคาสูงที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย เช่น การซื้อโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์


 
สรุปในภาพรวม KKP Research ประเมินว่าทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้จะส่งผลให้ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP  

 

นอกจากนี้ KKP Research  ประเมินว่ามาตรการช้อปดีมีคืนมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น  ถึงแม้ว่ามาตรการประเภทลดหย่อนภาษีที่นำมาใช้หลายครั้งหลายคราในช่วงที่ผ่านมา ( ประเภทเดียวกับช้อปช่วยชาติ ทำในปี 2558-2561) อาจช่วยผู้ประกอบการบางกลุ่มได้บ้างในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา แต่ในแง่ประสิทธิผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ความคุ้มค่าของเม็ดเงินภาครัฐที่ใช้ไป และการกระจายผลประโยชน์ไปกลุ่มคนต่างๆ อย่างมิได้มีการศึกษาและเปิดเผยผลสรุปอย่างเป็นรูปธรรม จะมีก็แต่บริษัทธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ ออกมาเปิดเผยถึงยอดการขายที่ถูกกระตุ้นโดยมาตรการชั่วคราวเหล่านี้ภายหลังมาตรการจบลงในแต่ละปี 

แต่หากพิจารณาในมุมของผลต่อเศรษฐกิจจริงจาก “ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน”  (Private Consumption Index: PCI) ในหมวดสินค้ากึ่งคงทนพบว่าผลของมาตรการต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือนจะมีผลค่อนข้างคลุมเครือและมีผลเพียงระยะสั้นเท่านั้นในช่วงที่ออกใช้มาตรการ และการบริโภคจะลดลงในเดือนถัดไปภายหลังมาตรการจบลง สะท้อนว่ามาตรการในลักษณะนี้มักจะเป็นการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้มากกว่าการสร้างอุปสงค์ใหม่ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และผลกระทบจากสถานการณ์โควิดยังคงลากยาวออกไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยที่อาจทรุดลงอีกครั้งหลังมาตรการสิ้นสุดลง

ในภาพรวม เม็ดเงินจากภาครัฐ ทั้งภายใต้โครงสร้างงบประมาณปกติปี และภายใต้กระตุ้นเศรษฐกิจ  KKP Research ประเมินว่า ยังไม่ตกสู่เศรษฐกิจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ทำให้บทบาทของภาครัฐที่ควรจะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญในการกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจไทยในภาวะวิกฤตครั้งนี้มี “น้อยกว่า” ที่ควรจะเป็น ทั้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี 



อย่างไรก็ดี  KKP Research เสนอว่า รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงินเพื่อกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 60%แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินตามเป้าหมายของนโยบายและทิศทางของประเทศที่อาจเปลี่ยนไปอย่างจริงจังและชัดเจน รวมถึงการปรับรูปแบบการจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และลดการรั่วไหลของเงินงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินลงไปในเศรษฐกิจตามเป้าหมายได้มากที่สุด (เช่น การอบรมสัมมนาดูงานต่างประเทศ การซื้ออาวุธ หรือพาหนะที่มีความจำเป็นน้อยไม่ช่วยสร้างงาน ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป) และมีการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน โค้งสุดท้ายปี2563   ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง