รีเซต

โลกร้อน : งานวิจัยระบุการให้เงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้อาจส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

โลกร้อน : งานวิจัยระบุการให้เงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้อาจส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ข่าวสด
24 มิถุนายน 2563 ( 11:40 )
119
โลกร้อน : งานวิจัยระบุการให้เงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้อาจส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

 

โลกร้อน : งานวิจัยระบุการให้เงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้อาจส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

โดย แมตต์ แมคแกรธ

ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมบีบีซี

งานวิจัยใหม่ 2 ชิ้นชี้ การปลูกป่าโครงการใหญ่ ๆ อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าดี

งานวิชาการชิ้นหนึ่งระบุว่า การให้เงินอุดหนุนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้อาจส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก็ไม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย

 

งานอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า ตัวเลขประเมินว่าป่าใหม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้แค่ไหนอาจสูงเกินความเป็นจริง

งาน 2 ชิ้นนี้บอกตรงกันว่าการปลูกต้นไม้ไม่ใช่วิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความคิดว่าการปลูกป่าเป็นวิธีแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก

 

งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าต้นไม้มีประสิทธิภาพมหาศาลในการดูดซับและเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ และหลายประเทศก็ริเริ่มโครงการปลูกต้นไม้ โดยจัดว่าเป็นส่วนสำคัญในมาตรการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Getty Images

ในสหราชอาณาจักร คำสัญญาว่าจะปลูกต้นไม้มากขึ้นเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของหลายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว

ที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ผลักดันโครงการ "Trillion Trees Campaign" ซึ่งตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ล้านล้านต้น

โครงการ "Bonn Challenge" ซึ่งนำโดยเยอรมนี เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหายจากเข้าไปทำกิจกรรมของมนุษย์ หรือป่าที่ถูกถาง ให้กลับไปเป็นป่าให้ได้ 350 ล้านเฮกตาร์ หรือกว่า 2,000 ล้านไร่

 

ถึงตอนนี้ มี 40 ประเทศแล้วที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาเตือนไม่ให้มุ่งปลูกต้นไม้อย่างรวดเร็วโดยไม่พิจารณาวางแผนให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

พวกเขาเตือนว่า ถึงตอนนี้ ร้อยละ 80 ของต้นไม้ที่ปลูกในโครงการ "Bonn Challenge" ยังมีความหลากหลายเรื่องพันธุ์พืชและให้ผลผลิตอย่างจำกัดอยู่ อาทิ แค่ผลไม้และยาง

ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นใหม่นี้มุ่งความสนใจไปที่โครงการอุดหนุนเงินให้คนปลูกต้นไม้เพิ่มในที่ของตัวเอง และเงินส่วนนี้เองมีส่วนสำคัญที่ทำให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นมาก

 

Getty Images
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สนับสนุนโครงการ "Trillion Trees Campaign" ซึ่งตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ล้านล้านต้น

ผู้วิจัยใช้ประเทศชิลีเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งทางการออกกฎหมายช่วยอุดหนุนเงินให้กับการปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปี 2012 โดยช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าใหม่ถึง 75%

ผลที่เกิดขึ้นคือเจ้าของที่ดินบางคนถางป่าที่มีอยู่ดั้งเดิมและปลูกป่าใหม่ซึ่งทำเงินได้มากกว่า งานวิจัยพบว่าโครงการอุดหนุนเพิ่มพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่กลับทำให้พื้นที่ป่าดั้งเดิมลดลง

นอกจากนี้ นักวิจัยบอกว่า เมื่อป่าดั้งเดิมของชิลีมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และสามารถดูดซับคาร์บอนได้มาก โครงการอุดหนุนเงินนี้ไม่ได้ทำให้ปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น และก็ยังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

 

อีริค แลมบิน หนึ่งในทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่า หากออกแบบโครงการปลูกป่าไม่ดี และควบคุมแนวทางปฏิบัติไม่ได้ประสิทธิภาพ นอกจากจะเปลืองเงินสาธารณะแล้ว ยังทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าเดิม แล้วก็สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

งานวิจัยอีกชิ้นมุ่งค้นหาว่าป่าที่เพิ่งปลูกใหม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้แค่ไหน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด ศึกษาพื้นที่ทางภาคเหนือของจีนที่รัฐบาลมุ่งปลูกป่าใหม่เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพื่อลดฝุ่นจากทะเลทรายโกบี ด้วย

จากตัวอย่างดิน 11,000 ชิ้น นักวิทยาศาสตร์พบว่าการปลูกต้นไม้ใหม่ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์คาร์บอนในดิน แต่ขณะเดียวกัน การปลูกต้นไม้ใหม่ก็ไปลดคาร์บอนในดินส่วนที่มีความหนาแน่นของคาร์บอนสูงอยุ่แล้ว

 

ดร.อันปิง เชน หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด บอกว่า สมมติฐานที่เคยมีมาว่าการปลูกต้นไม้ใหม่จะลดปริมาณอินทรีย์คาร์บอนได้มากอาจจะเกินจริงไป

เขาบอกว่าการปลูกป่าทดแทนมีรายละเอียดเชิงเทคนิคมากมาย และต้องพิจารณาเรื่องความสมดุลต่าง ๆ จึงไม่สามารถใช้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทั้งหมดได้

งานวิจัยทั้งสองชิ้นตีพิมพ์ในวารสารเนเชอร์ซัสเตนาบิลิตี(Nature Sustainability)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง