มนุษย์ต่างวัย การออกแบบชีวิต ระยะยาวเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
ประสาน อิงคนันท์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบชุมชนอย่าง “มนุษย์ต่างวัย” ที่หวังสร้างความตระหนักรู้เรื่องการวางแผนชีวิตระยะยาว ภายใต้สถานการณ์ที่เมืองไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกวัยต้องรับมือไปด้วยกัน
แม้หลายปีก่อนเขาจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ดำเนินรายการและผู้ผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์ แต่พลิกบทบาทมาเป็นนักขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและสร้างการรับรู้ไปสู่สาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่เม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ ถูกถ่ายเทไปสู่คอนเทนต์ออนไลน์เกิดใหม่ที่กลาดเกลื่อนบนพื้นที่สื่อ
แต่ประเด็นที่มนุษย์ต่างวัยพยายามสื่อสารก็จุดติด หลังจากนำเสนอโครงการกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้ได้เงินทุนตั้งต้นที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้มนุษย์ต่างวัยสร้างผลงานได้อย่างต่อเนื่อง และลีลาการนำเสนอประเด็นผู้สูงวัยในสไตล์ของมนุษย์ต่างวัย ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในเวทีประกวดที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2565 ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น เผยแพร่คอนเทนต์ของมนุษย์ต่างวัยไปสู่สายตานานาชาติ
“มนุษย์ต่างวัยไม่ใช่สื่อเชิงพาณิชย์ แต่เป็นสื่อที่ตั้งใจขับเคลื่อนสังคม เรามีเป้าหมายอยากสร้างผู้สูงวัยให้แข็งแรง กระฉับกระเฉง มีการวางแผนชีวิต ดังนั้นจึงต้องมีการขอรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสินค้าหรือบริการที่มีเป้าหมายตรงกัน ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ต้องการสนับสนุนสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” ประสานกล่าว
มนุษย์ต่างวัยมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง 2 รอบ โดยปีแรกเป็นข้อเสนอจากโครงการ “The O (I) dol พลังบันดาลใจวัย O” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของผู้สูงอายุต้นแบบที่มีพลังและเป็นแรงบันดาลใจให้คนวัยเดียวกัน เป็นคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก สามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว่า 20 ล้านราย และคลิปวิดีโอมียอดการรับชมสูงหลักล้านวิว
ในการรับทุนรอบที่ 2 เป็นตัวตั้งต้นไปสู่การจัดงานชื่อ “มนุษย์ต่างวัยทอล์คปีที่ 1” ซึ่งจัดในรูปแบบเท็ดทอล์ค และนำเนื้อหาในงานดังกล่าวไปต่อยอดผลิตเป็นคอนเทนต์ออนไลน์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นโมเดลที่ช่วยขยายพื้นที่การสื่อสารของมนุษย์ต่างวัยให้กว้างไกลได้มากขึ้น
“ตอนนี้เรามีผู้ติดตามบน Facebook Fanpage กว่า 9 แสนคนและตั้งเป้าว่าเดือนมีนาคมนี้น่าจะมีผู้ติดตามครบ 1 ล้านคน แต่หากนับยอดรวมผู้ติดตามใน YouTube และ TikTok ด้วย มนุษย์ต่างวัยจะมีผู้ติดตามในสื่อออนไลน์ทั้งหมดกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน สำหรับสื่อที่นำเสนอเรื่องสังคมสูงวัย นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เพราะสามารถทำเรื่องเฉพาะกลุ่มกลายเป็นประเด็นสาธารณะ ทำให้เรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัยได้”
กว่า 4 ปีที่มนุษย์ต่างวัยทำให้เรื่องสังคมผู้สูงอายุไม่ได้ถูกพูดถึงกันในวงแคบๆ ของผู้สูงวัย แต่ขยายไปสู่วัยอื่นๆ ด้วย และยังต่อยอดไปสู่การจัดงานมนุษย์ต่างวัยทอล์คในปีที่ 2 ซึ่งมีประเด็นหลักเรื่องการสร้างงานและอาชีพของผู้สูงวัย มีผู้ให้ความสนใจร่วมงานอย่างล้นหลาม การจัดกิจกรรมงานนอกสถานที่อย่างต่อเนื่อง ก็เพื่อสร้างชุมชนให้เกาะเกี่ยวกันอย่างแนบแน่นแข็งแรง ซึ่งเขาอธิบายว่า
“ชุมชนของมนุษย์ต่างวัยคือคนที่มีทัศนคติว่า สามารถสร้างวันดีๆ ให้เกิดขึ้นได้ทุกวัย และวัยที่ใกล้หรือหลังเกษียณแล้ว ก็คืออีกซีซั่นหนึ่งของชีวิตที่เริ่มต้นสิ่งใหม่ได้ เช่น สร้างอาชีพใหม่จากงานอดิเรก หรือสร้างนิสัยใหม่เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง”
นอกจากมนุษย์ต่างวัยจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการดำเนินชีวิตระยะยาวหลังเกษียณแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือแขกรับเชิญในคลิปวิดีโอแต่ละตอน ซึ่งเป็นผู้สูงวัยต้นแบบที่โดดเด่น มีสีสัน และไม่ยอมให้อายุมาหยุดพลังชีวิต
“การหาเคสต่างๆ มาถ่ายทอดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องยกคำชมให้กับทีมงานที่เฟ้นหาผู้สูงอายุต้นแบบ หลายคนก็เคยถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์อื่นๆ แต่พอมาอยู่ในพื้นที่ของมนุษย์ต่างวัยก็จะถูกเล่าด้วยมุมมองในแบบของเรา เพื่อรักษาเอกลักษณ์เอาไว้”
สำหรับผู้ผลิตที่ทำสื่อเฉพาะประเด็นอย่างมนุษย์ต่างวัย การนำเสนอแนวความคิดเพื่อให้ได้เงินทุนสนับสนุนการทำงานถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งเขามีเทคนิคการนำเสนอดังนี้
“สิ่งสำคัญคือการนำเสนอให้ชัดเจนในประเด็นหลักๆ อย่างแรกคือ ยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายในการผลิตสื่อคืออะไร ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร อย่างที่สองคือ การสร้างความไว้วางใจให้แหล่งทุนเชื่อมั่นได้ว่า เราจะบริหารเงินทุนที่ได้รับมาอย่างคุ้มค่า งานมีคุณภาพเหมาะสมกับงบประมาณ เผยแพร่ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามที่แหล่งทุนคาดหวัง ทำงานให้ตรงตามเอกสารโครงการที่นำเสนอไป ทั้งรายละเอียดงาน เวลา เงื่อนไขและงบประมาณที่ระบุไว้”
เกือบ 5 ปีมาแล้วที่เขาได้พลิกบทบาทจากผู้ผลิตสารคดีมาสู่ผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อสื่อสารประเด็นสาธารณะ เกิดภาพจำใหม่ว่าเขาคือตัวแทนของวัยกลางคน ที่อยู่ตรงกลางและพยายามลดช่องว่างระหว่างคนต่าง Gen ซึ่งเขาได้ข้อสรุปกับการเลือกเส้นทางสายใหม่นี้ว่า
“ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไปไม่รอด เพราะดิจิตอล ดิสรัปชั่น ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เปรียบเหมือนสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราไม่ปรับปรุงบ้าน ปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เข้ากับอากาศ ก็จะอยู่ลำบาก
ตอนที่ตัดสินใจสร้างมนุษย์ต่างวัย ยังอยู่ในช่วงวัย 40 กว่าๆ ดิจิตอล ดิสรัปชั่นเข้ามาท้าทายว่า ถ้าไม่เปลี่ยนเส้นทางใหม่ เวลาที่เหลืออยู่ในเส้นทางเดิมจะไม่ยืนยาวแล้ว และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทำให้ตอบตัวเองได้ว่า เราคือใคร อยากทำหรือไม่อยากทำอะไร เปรียบเหมือนมีรากแก้วของชีวิตแล้ว แม้จะต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ก็ยังมีรากเดิมที่ยึดโยงชีวิตไว้อยู่”
สามารถติดตามมนุษย์ต่างวัยได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้
https://www.facebook.com/manoottangwai
Website : https://bit.ly/3bXNDjG
YouTube : https://bit.ly/3wFUSoE
TikTok : https://bit.ly/3LNavSX