รู้ทันโรค “ข้อเข่าเสื่อม” ปัญหาใหญ่ของวัย 45+ ดูแลให้ดีก่อนสาย

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น “ข้อเข่า” ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญของร่างกายก็เสื่อมลงตามธรรมชาติ หลายคนเริ่มรู้สึกปวดข้อ เมื่อลุกขึ้นจากเก้าอี้ เดินขึ้นลงบันได หรือนั่งยองนานๆ สัญญาณเหล่านี้ล้วนเป็นอาการเริ่มต้นของ “ข้อเข่าเสื่อม” ซึ่งพบมากในประชาชนอายุ 45 ปีขึ้นไป หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ชีวิตประจำวันติดขัด เดินลำบาก และเสี่ยงต่อการล้มจนเกิดภาวะแทรกซ้อน
ข้อเข่าเสื่อมคืออะไร?
ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) คือ ภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าเสื่อมสภาพลง ทำให้กระดูกใต้ผิวข้อขัดสีกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการอักเสบ เจ็บปวด และข้อขยับลำบาก โรคนี้มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากไม่ได้รับการดูแล อาจลุกลามจนข้อเข่าบิดเบี้ยวหรือเดินไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
- อายุ: พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
- น้ำหนักเกิน: น้ำหนักที่มากเกินไปทำให้ข้อเข่ารับภาระหนัก
- การใช้ข้อเข่ามากเกินไป: เช่น การนั่งยอง นั่งขัดสมาธินานๆ การยกของหนักซ้ำๆ
- พันธุกรรม และประวัติอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า
อาการเตือน
- ปวดเข่าโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้งานมาก
- ข้อเข่าฝืดตอนเช้า หรือหลังอยู่นิ่งนานๆ
- มีเสียงก๊อบแก๊บในข้อเมื่อเคลื่อนไหว
- ข้อบวม หรือรู้สึกผิดรูป
วิธีดูแลข้อเข่าให้ใช้งานได้ยาวนาน
1. ควบคุมน้ำหนัก
น้ำหนักตัวที่มากเกินไปเป็นศัตรูสำคัญของข้อเข่า เพราะทุกกิโลกรัมที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแรงกดบนข้อเข่าอีกหลายเท่า
การลดน้ำหนักแม้เพียง 5-10% ของน้ำหนักตัว จะช่วยลดความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมและอาการปวดได้ชัดเจน
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อข้อเข่า
- หลีกเลี่ยงการนั่งยองหรือนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน
- ใช้เก้าอี้แทนการนั่งกับพื้น
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือแบกของเป็นประจำ
- เลือกสวมรองเท้าที่พื้นนุ่มและรองรับแรงกระแทกได้ดี
3. การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ออกกำลังกายแบบไม่ลงน้ำหนัก (Low-impact exercise) จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อ ลดแรงกระแทก และเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อ ตัวอย่างเช่น
- เดินช้า ๆ วันละ 20-30 นาที
- ปั่นจักรยานในที่ราบหรือจักรยานอยู่กับที่
- ว่ายน้ำ หรือแอโรบิกในน้ำ
- ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขา (นั่งบนเก้าอี้ เหยียดขาตรงสลับซ้ายขวา)
ข้อควรระวัง
หากออกกำลังกายแล้วมีอาการปวด บวม หรือข้อเข่าอุ่นแดง ควรหยุดพักและปรึกษาแพทย์
การใช้ยาอย่างปลอดภัยในผู้มีข้อเข่าเสื่อม
- Paracetamol: เป็นยาลดปวดตัวเลือกแรก ใช้ได้อย่างปลอดภัยในขนาดที่เหมาะสม
- NSAIDs (เช่น Ibuprofen, Diclofenac): ช่วยลดปวดและอักเสบ แต่ควรใช้ในระยะสั้น ระวังในผู้มีโรคประจำตัว เช่น ไตวาย กระเพาะอาหาร หัวใจ
- ยาทาเฉพาะที่: เช่น Diclofenac gel, Capsaicin cream เหมาะกับผู้ที่มีข้อห้ามใช้ยาเม็ด
- ยาเสริมข้อ (Glucosamine, Chondroitin): ข้อมูลยังไม่แน่ชัด ต้องใช้ต่อเนื่อง 3-6 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผลในบางราย
- หลีกเลี่ยงการฉีดยาเข้าข้อ เว้นแต่จำเป็น และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
ข้อควรระวัง
- ห้ามซื้อยากินเองหรือใช้ยาติดต่อกันนานโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อวดอ้างเกินจริง
- หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
สมุนไพรกับการดูแลข้อเข่าเสื่อม
สมุนไพรเป็นทางเลือกเสริมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการลดการใช้ยาแผนปัจจุบันและลดผลข้างเคียง โดยสมุนไพรบางชนิดมีหลักฐานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ และชะลอการเสื่อมของข้อได้
สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อข้อเข่า
1. ขมิ้นชัน (Curcuma longa)
- สาร Curcumin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
- ผลวิจัยพบว่า ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการปวดและข้อฝืดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
- ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
2. เถาวัลย์เปรียง (Derris scandens)
- มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ และลดการอักเสบ
- มีงานวิจัยเปรียบเทียบกับยากลุ่ม NSAIDs
3. เพชรสังฆาต (Cissus quadrangularis)
- สมุนไพรไทยที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและลดการอักเสบ
- สารสำคัญ เช่น flavonoids, triterpenoids และวิตามิน C กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในข้อ
- งานวิจัยในไทยและต่างประเทศระบุว่า เพชรสังฆาต ช่วยลดอาการปวดข้อในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระดับเริ่มต้นถึงปานกลาง และส่งเสริมการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ
- มีทั้งแบบแคปซูลและชงดื่ม
4. หญ้าหนวดแมว (Orthosiphon aristatus)
- มีสรรพคุณช่วยขับกรดยูริก และลดการอักเสบในข้อ
ข้อควรระวัง
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี อย.
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
- หลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรหากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
การดูแลข้อเข่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ใช้สมุนไพรหรือยาด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ล้วนเป็นทางเลือกที่ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าให้นานที่สุด เพราะ “ข้อดีๆ ไม่มีขาย” แต่สร้างได้ด้วยความตั้งใจและดูแลตัวเองในทุกๆ วัน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
