รีเซต

กยท.ทุ่บงบ 4 ล้าน มอบ 10 ทุนการศึกษา เติมฝันบุตรชาวสวนยาง เรียนจบ ป.ตรี

กยท.ทุ่บงบ 4 ล้าน มอบ 10 ทุนการศึกษา เติมฝันบุตรชาวสวนยาง เรียนจบ ป.ตรี
77ข่าวเด็ด
23 กันยายน 2563 ( 02:02 )
136

สงขลา-สะเดา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทุ่ม 4 ล้าน มอบ 10 ทุนการศึกษาให้บุตรชาวสวนยางพารารุ่นแรก คนละ 4 แสนบาท ใน 3 สถาบัน เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการยาง สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และแปรรูปยางพารา 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นปลื้มฝันกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

 

 

การศึกษาของเยาวชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต่อยอดสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพได้ในอนาคต ไม่ว่าในสายงานอาชีพใดๆ ล้วนแล้วแต่ก็ต้องการบุคลากรที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่มาสานต่อการทำงานให้เพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เช่นเดียวกับการพัฒนาวงการยางพาราไทย ที่ต้องการแปรรูปเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ อันจะส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพด้านราคา  การยางพาราแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงมีนโยบายให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ครั้งแรกแก่บุตรเกษตรกรชาวสวนยางพารา ทั่วประเทศ จำนวน 10 คน

 

นายวีระพัฒน์ เดชารัตน์ หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร ฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กยท. บอกถึงรายละเอียดของสวัสดิการ “ ทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง ว่างบประมาณที่จัดให้ทุนการศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการอื่นๆ ที่จัดให้เกษตรกรชาวสวนยาง ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 49 ( 5 )ซึ่งในต้นปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องในหมวดของสวัสดิการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้ กยท. ได้จัดสวัสดิการด้านการส่งเสริมอาชีพ และประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม และเพิ่งจะเริ่มจัดทำโครงการทุนการศึกษากับบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับกยท.ที่จะเรียนในระดับปริญญาตรี

 

โดยให้ทุนการศึกษาต่อเนื่อง 4 ปี ปีละ 100,000 บาท จนจบการศึกษา ซึ่งหลักการและเหตุผลของการจัดทำโครงการนี้ คือ ทางกยท.เห็นว่าเรื่องของการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ อยากให้บุคลากรในอาชีพนั้นๆ ได้สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในเรื่องของอาชีพ

 

 “ เราคาดหวังว่าบุคลากรเหล่านี้จบมาแล้ว จะเข้ามาเป็นส่วนร่วมกับกยท. โดยนำโครงการ การวิจัย หรือนวัตกรรมด้านยางพาราที่นักศึกษาได้เรียนรู้มา กลับไปเพื่อพัฒนาอาชีพยางพาราในท้องถิ่นหรือที่ไหนก็แล้วแต่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ชิ้น เพื่อจะได้ให้เห็นประโยชน์คุณค่าของการร่ำเรียนเรื่องนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ นี่คือวัตถุประสงค์และที่มาของโครงการ “

 

ในปี 2563 ผมเขียนโครงการขออนุมัติ​เพื่อจัดทำโครงการดังกล่าว​นำร่องเป็นจำนวน 10 ทุนการศึกษาทุนละ 400,000 บาทรวม 4 ล้านบาท นักศึกษาทุนกยท. รุ่นแรกมีสถาบันที่เราคัดเลือกเข้าเรียน 3 สถาบัน คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เลือกนักศึกษา 5 ทุน,  ม.อ.วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี 2 ทุน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3 ทุน”

 

กระบวนการคัดเลือกเด็กที่จะได้รับทุนการศึกษานั้น จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนของการสอบในภาคทฤษฎี และการสอบสัมภาษณ์ จะมีการกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกไว้อย่างชัดดเจนเป็นส่วนๆ ซึ่งนายวีระพัฒน์ อธิบายในส่วนของการคัดเลือกไว้ว่า

 

ในหลักการกว้างๆ นี้ ทางกยท.มีความคาดหวังว่า การคัดสรรนักศึกษา​ที่เข้าเรียนต้องเป็นนักศึกษาที่มีความเดือดร้อนทางด้านการเงินแต่เรียนดี มีความสนใจที่อยากจะเรียนในเรื่องของอาชีพตนเอง นั่นคือเรื่องยาง เป็นเด็กนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 และต้องการจะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทางด้านยางพารา ซึ่งทั้ง 10 คนนั้น จะต้องผ่านการคัดเลือกทั้งการสอบในภาคทฤษฎี และในการสอบสัมภาษณ์

 

ในปี 2563 มีผู้สมัครเข้ารับคัดเลือกจำนวน 26 คน และคัดเลือกเหลือเพียง 10 คน โดยองค์ประกอบในการคัดเลือกคะแนนนั้น จะทำการคัดเลือกคะแนนจากภาคทฤษฎีจำนวน 30% และภาคปฏิบัติอีก 70% โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการออกข้อสอบภาคทฤษฎี รวมถึงเป็นผู้สัมภาษณ์นักศึกษาด้วย

 

และคะแนนสัมภาษณ์ 70% นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นการทดสอบวัดระดับทางด้านความคิด และวัดเรื่องสมรรถนะของผู้ที่จะเข้าเรียน ว่ามีความพร้อมที่จะเข้าเรียนทางด้านนี้จริงหรือไม่ มีความรู้พื้นฐานระดับไหน เหตุผลที่ได้เทน้ำหนักไปทางคะแนนสัมภาษณ์ถึง 70% เพราะ การเข้าไปเรียนด้านเทคโนโลยีการยางและการแปรรูปยาง ค่อนข้างที่จะต้องใช้จิตใจเป็นหลัก ถ้านักศึกษาไม่ชอบก็อาจจะเรียนไม่จบ

 

 

นายรุซดาน มะลี นักศึกษาคณะเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาจากทางการยางไทย กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับทุนการศึกษาของกยท.มาก่อนที่จะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดให้บุตรของเกษตรกร จึงตัดสินใจสมัคร

 

” ที่บ้านผมมีสวนยางประมาณ 10 ไร่ ที่ตำบลกรงปีนัง อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา ทั้งพ่อและแม่เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนผมก็ช่วยเหลือทางครอบครัวด้วยในการกรีดยางทุกๆ วันศุกร์ที่ไม่มีการเรียนการสอน และได้นำน้ำยางมาจำหน่าย ด้วยปัญหาราคายางที่ตกต่ำลง ตนจึงมีความคิดที่อยากจะต่อยอดเรื่องของยางพาราในอนาคต “

 

ปัจจุบันราคายางตกลงมาก ทั้งๆ ที่ในบ้านเราก็มีผลิตภัณฑ์มากมายที่สามารถแปรรูปจากยางพาราได้ไม่เฉพาะแค่การขายยางแผ่น หรือน้ำยางเท่านั้น จึงมีความคิดที่อยากจะเข้ามาเรียนในคณะเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เพื่อที่จะนำไปต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอนาคต

 

การได้รับโอกาสจากทุนการศึกษาที่กยท.มอบให้นั้น รู้สึกดีใจและประทับใจมากที่เราสามารถทำได้ และด้วยความที่เราต้องการหาทุนการศึกษาเกี่ยวกับทางด้านยางอยู่แล้วจึงทำให้เราค่อนข้างที่จะมีความตั้งใจมากเป็นพิเศษ และเตรียมตัวสำหรับการสอบเป็นอย่างดี พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องยางพาราอยู่ตลอด เมื่อทำสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีคนรอบข้างก็มาแสดงความยินดีกับเราด้วย

 

เช่นเดียวกันกับ นางสาวนัทฐาภรณ์ คงมาก นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ที่บอกถึงการได้รับทุนการศึกษา จากสวัสดิการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มาตรา 49 (5) ว่า

สาเหตุที่ตัดสินใจสมัครทุนการศึกษานี้ ก็เพราะเป็นลูกเกษตรกรชาวสวนยาง อยู่กับยางพารามาตลอดตั้งแต่เด็ก อยากรู้ว่าตัวยางพารานี้สามารถนำไปผลิตหรือแปรรูปเป็นสิ่งอื่นได้อีกบ้างไหม และอีกหนึ่งเหตุผลคือ ต้องการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน จึงตัดสินใจสมัครทุนการศึกษานี้ โดยการเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อ ซึ่งจำเป็นต้องสอบชิงทุนดังกล่าว มีการอ่านหนังสือและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสาขาที่จะไปเข้าเรียน ว่าเรียนอย่างไรเรียนเกี่ยวกับอะไร เมื่อเราได้ความรู้ในส่วนนี้แล้วเราจะได้รู้ว่า ควรจะศึกษาตรงไหนต่อบ้าง

“ แม่เป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาต่อด้านเทคโนโลยียางพารา เพราะแม่เป็นชาวสวนยาง อีกทั้งเราเห็นว่าแม่ต้องตื่นมากรีดยางในทุกๆ เช้า ทำให้เรารู้สึกว่าท่านเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก จึงมีความคิดที่อยากจะช่วยแบ่งเบาภาระ เลยตัดสินใจสมัครทุนและจะพยายามนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาพัฒนาในหมู่บ้านโดยทุนการศึกษาที่กยท. ให้มา ก็เพื่อที่จะให้เยาวชนได้เรียนรู้ และนำไปพัฒนาเกี่ยวกับยางพาราภายในหมู่บ้านหรือภายในที่ต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนไปถึงระดับประเทศสามารถจะส่งออกไปยังที่ต่างๆ ได้ในอนาคตเมื่อเรียนจบแล้ว ก็อยากจะนำความรู้ไปพัฒนาที่หมู่บ้าน ไปสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับหมู่บ้าน และเพื่อที่จะพัฒนายางในหมู่บ้านให้มีคุณภาพมากพอที่จะสามารถส่งออกไปยังที่ต่างๆ ได้ “

ซึ่งเงื่อนไข สำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในทุนการศึกษานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางกยท. มีข้อกำหนดเพียงแค่คนที่ได้รับทุนจะต้องเรียนให้จบภายในกำหนดระยะเวลา 4 ปี และต้องส่งผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมให้กับกยท.หลังจากจบแล้วภายใน 1 เดือน เพื่อจะได้นำงานวิจัยตรงนี้ไปถ่ายทอดภายในระยะ 6 เดือน

ในกรณีที่นักศึกษาไม่สามารถเรียนจบหรือถูกรีไทร์​โดยมีปัจจัยที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเองก็จะมีเงื่อนไขสัญญาว่าจะต้องคืนเงินที่เบิกไปแล้วทั้งหมดให้กับทางกยท. ซึ่งตัวสัญญานี้จะต้องผ่านกระบวนการของอัยการ และมีผลทางกฎหมายด้วย โดยนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยางจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในปี 2563 ได้รับการคัดเลือกจาก กยท.เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กยท.เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กยท.เขตภาคกลาง – ภาคตะวันออก กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง และกยท.เขตภาคใต้ตอนล่างรวมทั้งหมด 10 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง