ทำไมบางคนเมา "รถยนต์ไฟฟ้า" เวียนหัวคลื่นไส้ ทั้งที่ไม่เคยเมารถมาก่อน?

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2024 คิดเป็น 22% ของยอดขายรถใหม่ทั้งหมด เทียบกับ 18% ในปี 2023 แต่มีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบว่าผู้โดยสารในรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้ม “เมารถ” มากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเมื่อนั่งที่เบาะหลัง
การเมารถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจากอะไร?
อาการเมารถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่แค่เรื่องรู้สึกส่วนบุคคล แต่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างจริงจัง ผลการศึกษาหลายชิ้นสนับสนุนแนวคิดว่าอาการเมารถใน EV มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
โดยวิลเลียม เอมอนด์ (William Emond) นักศึกษาปริญญาเอกจาก Université de Technologie de Belfort-Montbéliard ในประเทศฝรั่งเศส อธิบายว่า อาการเมารถในรถ EV ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ที่ยังขาดหาย หรือความเคยชินของสมองมนุษย์ ทั้งในฐานะผู้ขับขี่และผู้โดยสาร สมองจึงยังไม่สามารถประมาณการการเคลื่อนไหวของรถได้อย่างแม่นยำ
โดยปกติสมองมนุษย์จะคุ้นชินและใช้ประสบการณ์ในอดีตช่วยในการคาดการณ์ เช่น การนั่งรถยนต์น้ำมันที่มีความแตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันมีเสียงรอบเครื่องยนต์ การสั่นสะเทือน และแรงต้านที่สมองมนุษย์คุ้นเคย ซึ่งกลายเป็นเบาะแสให้สมองเรียนรู้การเคลื่อนที่ แต่ในกรณีของรถไฟฟ้า EV ที่ไร้เสียงและมีแรงบิดทันทีโดยไม่เตือนล่วงหน้า การเปลี่ยนความเร็วอย่างเงียบเชียบทำให้สมองไม่มีสัญญาณใดให้คาดการณ์ล่วงหน้า ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่แปลกใหม่ในมุมมองของสมอง
งานวิจัยรองรับเกี่ยวกับอาการเมารถ
งานวิจัยในปี 2024 เรื่อง “ความสัมพันธ์อย่างมากระหว่างความรุนแรงของอาการเมารถกับการสั่นสะเทือนของเบาะนั่งในรถยนต์ไฟฟ้า” พบว่าอาการเมารถมีความเชื่อมโยงกับ แรงสั่นสะเทือนของเบาะนั่ง ในรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ผลการศึกษาในปี 2020 ชี้ว่า การขาดเสียงเครื่องยนต์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกคลื่นไส้มากขึ้น เมื่อสมองไม่ได้รับเสียงที่เคยชินกับการเปลี่ยนเกียร์หรือเร่งเครื่อง มันก็เสียความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ เทคโนโลยีเบรกแบบ Regenerative Braking หรือการเบรกที่แปลงพลังงานจลน์กลับมาเก็บในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลต่ออาการเมารถเช่นกัน เพราะการเบรกชนิดนี้จะชะลอรถอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานานแทนที่จะเบรกแบบกระตุกหรือเป็นจังหวะ ซึ่งในแง่ของร่างกายมนุษย์แล้ว ความถี่ของการลดความเร็วในลักษณะนี้สัมพันธ์กับระดับอาการเมารถที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
รายงานในปี 2024 เรื่องความสัมพันธ์อย่างมากระหว่างความรุนแรงของอาการเมารถกับการสั่นสะเทือนของเบาะนั่งในรถยนต์ไฟฟ้า ระบุว่า “ระดับของการเบรกแบบ Regenerative braking ที่สูงขึ้นสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเมารถ (Motion sickness หรือ MS) ได้มากขึ้น” ข้อสรุปนี้ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเฉพาะของรถ EV กับปฏิกิริยาทางกายภาพของมนุษย์
ทางชีววิทยา อาการเมารถเกิดจากความไม่สอดคล้องกันของสัญญาณรับรู้การเคลื่อนไหวจากระบบประสาทต่างๆ เช่น หูชั้นใน ดวงตา และความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ เมื่อข้อมูลเหล่านี้ขัดแย้งกัน สมองจะตีความว่าเกิดความผิดปกติขึ้น และหากความขัดแย้งยังคงอยู่ต่อเนื่อง สมองจะกระตุ้นปฏิกิริยาอัตโนมัติ เช่น คลื่นไส้หรือเวียนหัว
ผู้ขับขี่มักไม่แสดงอาการเมารถ เนื่องจากพวกเขารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการเลี้ยวหรือเบรกเมื่อใด สมองสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ต่างจากผู้โดยสารที่ไม่มีข้อมูลล่วงหน้า รถยนต์ไฟฟ้าก็มีลักษณะเดียวกันในแง่ของความ “คาดเดาไม่ได้” โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่คุ้นชิน
วิธีแก้ปัญหาเมารถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อยอดการใช้รถ EV ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น นักวิจัยจึงเริ่มพัฒนาแนวทางแก้ไขอาการเมารถเฉพาะของรถประเภทนี้ งานวิจัยหลายชิ้นเสนอว่าอาการเมารถใน รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ สามารถบรรเทาได้ด้วย การเพิ่มสัญญาณภาพ เช่น หน้าจออินเทอร์แอคทีฟ ไฟ LED รอบห้องโดยสาร หรือแม้แต่สัญญาณการสั่นสะเทือนเบาะเพื่อให้สมองผู้โดยสารคาดการณ์การเคลื่อนไหวได้แม่นยำยิ่งขึ้น
หลังจากนี้ความท้าทายของรถยนต์ไฟฟ้า EV จึงไม่ใช่แค่เรื่องระยะทางหรือการชาร์จแบตเตอรี่อีกต่อไป แต่รวมถึง “ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส” ที่ผู้โดยสารและผู้ขับขี่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันในยุคการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
