สรุปความก้าวหน้า Hyperloop และ MagLev เทคโนโลยีขนส่งความเร็วสูงแห่งอนาคต
สำหรับปี 2021 หนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแรงก็คือระบบขนส่งความเร็วสูง หรือ "Hi speed transportation" ไม่ว่าจะเป็น "MagLev" รถไฟแม่เหล็กความเร็วสูง หรือถ้าเอาไวกว่านี้ ก็ต้องเป็น "ไฮเปอร์ลูป" ซึ่งหากใครจำได้ ในปีนี้ได้มีการทดสอบแคปซูลโดยสาร หรือ "พ็อด" (Pod) ระบบขนส่งความเร็วสูง "ไฮเปอร์ลูป" ของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป (Virgin Hyperloop) หรือ Hyperloop One บริษัทด้านเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งในสหรัฐฯ กันไปแล้ว
โดยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (กันยายน 2021) ทาง Virgin Hyperloop ได้สร้างความฮือฮาด้วยการเผยโฉม ตู้สินค้าจำลองเชิงพาณิชย์ขนาดยาวเกือบ 10 เมตร ในงาน Dubai Expo 2020 ที่จัดขึ้นในปีนี้ ตัวตู้ผู้โดยสารที่นำมาแสดงจะเป็นแบบแยกส่วน ซึ่งผู้เข้าชมจะได้นั่งและได้สัมผัสประสบการณ์การเดินทางด้วยระบบไฮเปอร์ลูป แบบนุ่มนวล และราบรื่น
ซึ่งทางบริษัทเวอร์จิ้น ไฮเปอร์ลูป ได้การันตีว่า ด้วยระบบ Hyperloop ที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ของพวกเขา จะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 10,000 คน ต่อการเดินทาง 1 เที่ยวใน 1 ชั่วโมง หรือ 45 ล้านคนต่อปี โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำความเร็วในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีนี้ให้ได้กว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และถ้าหาก เวอร์จิ้น ไฮเปอร์ลูป ทำได้จริง สิ่งนี้จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อภาคส่วนหลักๆ และนวัตกรรมการขนส่งของโลกในอนาคตอย่างมากเลยทีเดียว เช่น การนำมาใช้เชื่อมการคมนาคมระหว่างเมืองต่าง ๆ ในอนาคตคาดว่า ทางบริษัทจะสามารถเปิดให้ใช้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2027 โดยจะเริ่มให้บริการเบื้องต้นที่สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และตะวันออกกลาง ตามมาด้วยพื้นที่อื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทเคยเรียกความสนใจจากทั่วโลกมาแล้ว กับ การทดสอบ ขนส่งผู้โดยสาร 2 คนที่เป็นพนักงานของบริษัทด้วยระบบ Hyperloop สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ในทะเลทรายรัฐเนวาดา
สำหรับการทดสอบครั้งประวัติศาสตร์นี้ เป็นการปล่อยให้ตัวพ็อดวิ่งเข้าไปในอุโมงค์สุญญากาศด้วยความเร็วสูง และมุ่งหน้าไปตามทางที่มีความยาวประมาณ 500 เมตร ในเวลาเพียง 15 วินาที ด้วยความเร็วสูงสุด 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แถมประสบการณ์การนั่ง ยังนุ่มลื่น เรียกว่านั่งหายใจแค่ไม่กี่ครั้ง ก็ไปไกลถึงครึ่งกิโลแล้ว
ส่วนอีกระบบขนส่งความเร็วสูงอีกเจ้าที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ บริษัท Hyperloop Transportation Technology หรือ HyperloopTT นำทีมบริหารโดย อันเดรส เด เลออน และวิศวกรจากสเปน ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมทีมจาก 5 ทวีปเลยทีเดียว
HyperloopTT ก่อตั้งในปี 2013 และได้พัฒนาแทร็กทดสอบไฮเปอร์ลูปแบบเต็มแห่งแรกในอเมริกา พร้อมเปิดตัวแคปซูลโดยสารความยาวขนาด 32 เมตรในปี 2018 ตัวแคปซูล บรรทุกผู้โดยสารได้ 28 ถึง 40 คน ทำมาจากไวเบเนียม คือ มีส่วนผสมของคาร์บอนไฟเบอร์ และฝังชิปโพเซสเซอร์ หน้าต่างข้างในเป็นแบบเสมือนจริง มีความเร็ว 780 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า ด้านวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางแบบไฮเปอร์ลูป มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
โดยขณะนี้ทาง HyperloopTT กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในภูมิภาค เกรท เลค ทางตอนเหนือของอเมริกา ในการสร้างระยะทางเบื้องต้น 756 กิโลเมตร ในอนาคต และกำลังเสนอความร่วมมือระบบไฮเปอร์ลูปแก่คณะกรรมาธิการยุโรป และรัฐบาลหลายประเทศ โดยมีสำนักงานทั้งใน อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี บราซิล และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
ระบบ Hyperloop จะมีความคล้าย MagLev ตรงที่เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กช่วยผลักให้รถไฟ หรือ แคปซูล ลอยตัวอยู่เหนือราง จากนั้นจะใช้แรงผลักและดูดของแม่เหล็กแต่ละขั้วที่อยู่บนราง ผลักรถไฟ ให้วิ่งได้ไวขึ้น ส่วนความแตกต่าง คือ ถ้าเป็น Hyperloop จะเป็นการวิ่งในท่อสุญญากาศ ที่จะไม่มีแรงต้านอากาศ และด้วยวิธีนี้เองที่ยิ่งทำให้การเดินทางด้วย Hyperloop นั้นไวกว่า แม็กเลฟ เป็นเท่าตัว คือ เร็วพอ ๆ กับเครื่องบิน แต่ปล่อยมลพิษน้อยกว่าเครื่องบิน
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Hyperloop นี้ จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น จากเดิมที่นั่งเครื่องบินจากลอส แอนเจลิส ไป ซานฟรานซิสโก ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง อาจใช้เวลาเหลือแค่ครึ่งชั่วโมง
ไฮเปอร์ลูป ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่พัฒนามานานหลายปีแล้ว ซึ่งการพัฒนาไฮเปอร์ลูปนั้น ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ต้องประเมิน ทั้งความคุ้มค่าด้านการลงทุน ระบบสุญญากาศภายใน การขออนุญาตก่อสร้างเครือข่ายอุโมงค์สุญญากาศพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงระบบนี้ จะตอบโจทย์ภาคการขนส่งโดยรวมหรือไม่ เพราะราคาสูงและเข้าถึงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้น
ถ้าพูดถึงนวัตกรรมรถการเดินทางความเร็วสูงที่เกิดขึ้นจริงแล้ว คงจะไม่พ้นรถไฟแม่เหล็ก ความเร็วกว่า 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยกลางปีนี้จีนเปิดตัวรถไฟความเร็วสูง Maglev ที่มีความเร็วถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วสูงที่สุดในประเทศ และเกือบจะเร็วเท่าสถิติโลกของ MagLev ญี่ปุ่นที่ทำไว้ที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ด้วยความเร็วของรถไฟ Maglev ทำให้การเดินทางระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ รวมเวลาพักรถ จะใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมงครึ่ง เท่านั้น ซึ่งเร็วกว่ารถไฟหัวกระสุนทั่วไปถึง 2 ชั่วโมง และในอนาคตจีนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงพลังงานแม่เหล็ก เชื่อมกว่างโจว-ฮ่องกง ไวเหมือนเดินทางกรุงเทพฯ พัทยาจากชั่วโมงกว่า ๆ ในเวลาแค่ 20 นาที
มาดูทางด้าน MagLev ของญี่ปุ่น หรือ SuperConducting MagLev ที่มีแรงแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทรงพลัง มีความเร็วสูง และวิ่งได้อย่างยอดเยี่ยม แถมยังมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2 หมื่นพันล้านดอลลาร์สหรัฐกันบ้าง
ทาง Central Japan Railways หรือ JR Central บริษัทผู้ผลิตรถไฟในญี่ปุ่น ตั้งเป้าว่าจะเริ่มใช้รถไฟ MagLev ให้ได้ภายในปี 2027 แต่กำหนดการนี้ยังไม่แน่ชัดและอาจต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากติดปัญหาการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ การเดินทางด้วย MagLev ของญี่ปุ่นสำหรับเส้นทางระหว่าง Tokyo กับ Nagoya จะใช้เวลาเพียง 40 นาทีสำหรับการเดินทาง 280 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางได้กว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเวลาการเดินทางในปัจจุบันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่จะนำรถไฟ MagLev ของญี่ปุ่น ออกมาใช้บริการผู้โดยสารจริง รถไฟจะวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 505 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่ารถไฟ shinkansen หรือ ‘bullet train’ ของญี่ปุ่นที่วิ่งด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ เวลานี้ โดยก่อนหน้านี้ ทางศูนย์นิทรรศการ Maglev ประจำจังหวัดยามานาชิ ได้ทดลองการวิ่งรถไฟในปี 2019 ซึ่งให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถทำสถิติ MagLev เร็วที่สุดในโลกได้ ด้วยความเร็วที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับปีหน้าจะมีความเคลื่อนไหวของการพัฒนาระบบขนส่งความเร็วสูงอย่างไร เราจะรีบอัปเดตให้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก
reuters, hyperlooptt, thenationalnews, bbc, xinhuathai, asia.nikkei