รีเซต

สตาร์ตอัปนอร์เวย์เตรียมติดตั้งกังหันลมแกนดิ่งปีหน้า หลังผ่านการทดสอบร่วมทศวรรษ

สตาร์ตอัปนอร์เวย์เตรียมติดตั้งกังหันลมแกนดิ่งปีหน้า หลังผ่านการทดสอบร่วมทศวรรษ
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2565 ( 13:49 )
69
สตาร์ตอัปนอร์เวย์เตรียมติดตั้งกังหันลมแกนดิ่งปีหน้า หลังผ่านการทดสอบร่วมทศวรรษ

นอร์เวย์ ดินแดนแห่งกังหันลม


นอร์เวย์มีทะเลเหนือ (North Sea) เป็นแหล่งขุมทรัพย์มาโดยตลอด ตั้งแต่แหล่งอาหาร แหล่งน้ำมัน และทรัพยากรอื่น ๆ จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กังหันลมที่ใหญ่นั้นมีต้นทุนมหาศาล ก่อนหน้านี้มีบริษัทชื่อเวิลด์ไวด์วินด์ (World Wide Wind) สตาร์ตอัปจากนอร์เวย์เสนอไอเดียกังหันแกนดิ่ง (VAWT) สูง 400 เมตร ที่เป็นข่าวดังมาแล้ว ในวันนี้ บริษัท เวสต์คอน (Westcon) สตาร์ตอัปร่วมชาติ จับมือกับซีทเวิร์ล (SeaTwirl) บริษัทกังหันลมจากสวีเดน ประกาศปาดหน้าติดตั้งกังหันลมแกนดิ่งในทะเลเหนือภายในปีหน้าไปแล้ว


กังหันลมแนวดิ่ง ทางเลือกใหม่พลังงานสะอาด


กังหันลมแกนดิ่ง (Vertical-Axis Wind Turbine: VAWT) มีข้อได้เปรียบกว่ากังหันลมแบบเดิมหรือเรียกว่ากังหันลมแกนราบ (Horizontal-Axis Wind Turbine: HAWT) ที่สามารถรับลมได้จากทุกทิศทาง เพียงแต่ก่อนหน้านี้การนำกังหันลมแกนดิ่งมาใช้จริงนั้นติดปัญหาเรื่องของประสิทธิภาพที่น้อยกว่าแบบเดิมอย่างมาก แต่ทางเวสต์คอน (Westcon) และซีทเวิร์ล (SeaTwirl) นั้นสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้


กังหันลมแบบใหม่ของกังหันลมซีทเวิร์ล (SeaTwirl) นั้นใช้เวลาในการทดสอบร่วม 10 ปี ตั้งแต่การทดสอบภายใต้ห้องปฏิบัติการ และการทดสอบติดตั้งจริงโดยใช้ชื่อรุ่นว่าเอสวัน (S1) กำลังการผลิต 30 กิโลวัตต์ (kW) ในปี 2015 และเมื่อได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ทางบริษัทก็ได้ประกาศสร้างตัวใหม่ที่เป็นการขยายขนาดจากตัวต้นแบบที่ชื่อว่าเอสทูเอ็กซ์ (S2X) ที่มีกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ (MW)


การทำงานของกังหันลมแกนดิ่งบริษัท ซีทเวิร์ล (SeaTwirl)



กังหันลมแกนดิ่งเอสทูเอ็กซ์ (S2X) เป็นกังหันลมแบบลอยได้ (Floating Wind Turbine) มีความยาวทั้งหมดประมาณ 135 เมตร เป็นส่วนของทุ่นลอยน้ำลึก 80 เมตร และส่วนที่ลอยพ้นผิวน้ำสำหรับติดตั้งกังหันแกนดิ่งอีกราว 55 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าขนาดตัวต้นแบบ หรือรุ่นเอสวัน (S1) ถึง 30 เท่า มีกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ (MW) สามารถรองรับกระแสลมความเร็วสูงได้ โดยจะตัดการผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อมีลมแรงเกินกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ตัวกังหันนั้นทนทานต่อกระแสลมพายุระดับเฮอร์ริเคนที่มีความเร็วลมกว่า 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้


บริษัท ซีทเวิร์ล (SeaTwirl) ให้ข้อมูลต้นทุนต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานสุทธิหรือ LCoE (Levelized Cost of Energy) อยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 1,800 บาทต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานกลางที่เป็นต้นทุนการผลิตสำหรับกังหันลมทั่วไปที่ติดตั้งบนพื้นดิน แต่ว่าเอสทูเอ็กซ์ (S2X) นั้นจะมีต้นทุนน้อยลงในอนาคตหากมีการผลิตจำนวนมากในอนาคต โดยบริษัทยังได้ตั้งเป้าให้ภายใน 5 ปี จะมีกังหันลมแกนดิ่งรุ่นกำลังการผลิต 6 - 10 เมกะวัตต์ (MW) อีกด้วย





ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ SeaTwirl

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง