KBANKเติมกองทุนขั้น1 ธปท.ช่วยสกัดNPLแบงก์
ทันหุ้น-สู้โควิด- KBANK อีกราย เติมเงินกองทุนขั้นที่ 1 ผ่านการขายตราสารด้อยสิทธิที่ออกมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์มองเชิงบวกปิดประตูเพิ่มทุน ขณะที่วงการมองแบงก์ชาติเข้าช่วยแบงก์พาณิชย์ ทั้งการยอมให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงบ้าง และการพักชำระหนี้บางราย มอง NPL ยังไม่สูงจนรับไม่ได้
ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK แจ้งว่า ธนาคารได้ดำเนินการออกตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารมูลค่าที่ออก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคาร นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมของตลาดการระดมทุนในปัจจุบันเอื้ออำนวยให้ออกและเสนอขายตราสาร และช่วยปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเงินกองทุนในปัจจุบันของธนาคารยังคงเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับตราสารด้อยสิทธิที่ออกมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5.275% ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และมีการ Reset อัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5ปี ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Moody's ที่Baa1 เสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศทั้งจำนวน
@ธปท.ผ่อนเกณฑ์กองทุน
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการทันหุ้นทันเกมว่า จากการติดตามสถานการณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีท่าทีที่จะช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ทั้งในส่วนของเรื่องเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ซึ่งแม้ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 18-19% ถือว่าปลอดภัยและสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 12% แต่ในอดีตหากมีการลดต่ำลงมาในระดับประมาณ 10% กลางๆ หรือ 14-15% ก็มักจะมีการเตือนให้มีการเติมเงินกองทุนเสมอ อย่างไรก็ดีจากการประชุมนักวิเคราะห์ที่ผ่านมา ธปท. มีท่าทีที่จะรับว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติ และ อาจจะยอมให้เงินกอทุนลดต่ำลงมาหน่อยได้ แต่ไม่หลุดเกณฑ์ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะทำให้ ธนาคารพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน
@ช่วยสกัด NPL
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มในการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิด NPL หลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง โดยจากที่ติดตามสถานการณ์มาพบว่า ธปท. อาจจะยินยอมให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพักชำระหนี้ลูกหนี้เป็นรายๆ ไป แต่ไม่ใช่การกวาดทั้งหมด เพื่อที่จะทำให้ NPL ไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้ว่าจะมีข้อมูลออกมาว่ามีลูกหนี้ 40% ของจำนวนหนี้ 6.9 ล้านล้านบาทที่เข้าโครงการพักชำระหนี้มีความเสี่ยงชำระหนี้ไมได้ก็ตาม
ประเมินว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้ NPL ของระบบปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยคาดว่าจะทยอยเข้ามาอีก 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วน NPL ทั้งระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 3% เป็น 6% เมื่อเทียบกับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งไว้ราว 2.8 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่มากและธนาคารไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน
อย่างไรก็ดีหาก ธปท. ไม่ได้มีผ่อนคลายเกณฑ์การป้องกัน NPL เชื่อว่า แบงก์อาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเงินกองทุนดังกล่าวจะสามารถรองรับ NPL ได้ราว 10.4%
ด้าน นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การที่ KBANK ปรับตัวสวนขึ้น ท่ามกลางการแจ้งออก ตราสารด้อยสิทธิที่ออกมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเติมเงินกองทุนนั้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าจะช่วยทำให้ KBANK ไม่ต้องเพิ่มทุน และสามารถรองรับ NPL ได้ยาว ทำให้มีแรงซื้อเข้ามา
อย่างไรก็ตามยังคงมีความเป็นห่วงถึงหนี้ NPL ที่จะเพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่ ธปท. ระบุว่า มีความเสี่ยงที่ผู้เข้าโครงการพักชำระหนี้ 40% อาจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ธปท. จะมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด NPL สูง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งการพักชำระหนี้เป็นรายๆไป และการปรับโครงสร้างหนีที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องยอมปรับลดหนี้ลงมาเช่นเดียวกัน