(ถึงเวลา) ทบทวนบทลงโทษทางอาญาว่าด้วยการเอาผิด ‘เด็ก-เยาวชน’
ในเวลาไม่ถึง 1 ปีได้เกิดเหตุอาชญากรรมร้ายแรงที่มีผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นเหตุยิงในศูนย์การค้ากลางเมือง หรือ การรุมทำร้ายหญิงรายหนึ่งและอำพรางศพที่จังหวัดสระแก้ว
ในกรณีหลังนี้นอกจากเป็นเรื่องความรุนแรงแล้วยังเป็นการสะท้อนการดูแลเด็กในครอบครัวของพ่อแม่ที่ขาดการชี้นำชีวิตที่เหมาะสม (Supervision Neglect) ส่งผลให้เด็กไม่รู้ว่า เด็กไม่ควรกระทำความรุนแรงต่อผู้ป่วยทางจิต และเมื่อเด็กถูกตอบโต้ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมได้
แต่ตามกฎหมายแล้วผู้ที่อายุไม่เกิน 15 ปีนับว่าเป็นเยาวชน ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ฉะนั้นการจับกุม สอบสวน คุมตัว หรือแม้แต่แจ้งข้อกล่าวหาล้วนแล้วแต่ต้องมีหลักกฎหมายและหลักจริยธรรมครอบเป็นเกราะปกป้องเด็กไว้
สังคมต้องเข้าใจว่าเด็กหรือเยาวชนเมื่ออยู่ในสถานะเป็นผู้กระทําผิดแล้ว กฎหมาย จะมองว่าพวกเขามีความรู้สึกผิดชอบอย่างจํากัด ไม่เหมือนกรณีผู้ใหญ่ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงกําหนดการเอาผิดทางอาญาไว้เป็นกรณีพิเศษ
ข้อแตกต่างระหว่าง เด็ก-เยาวชน
เด็ก หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่เดิมกําหนดให้บุคคลอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์
เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แต่เดิมกําหนดให้บุคคลอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
ข้อแตกต่างในการรับผิดทางประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกิน 10 ปี กระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดําเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย
มาตรา 74 เด็กอายุยังไม่เกิน 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทําการอันกฎหมาย บัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ในศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ เช่น ว่ากล่าว ตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป หรือถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ บุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้ หรือศาล ผู้ปกครองระหว่างเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกําหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกำหนดจำนวน
มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทําการอันกฎหมาย บัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่ จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษก็ ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่ กําหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง
มาตรา 76 ผู้ใดอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้
สำหรับความผิดทางแพ่งมีกฎหมายกำหนดความรับผิดระหว่างผู้เยาว์กับบิดามารดาไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 429 ‘บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อม ต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น’
ข้อแตกต่างในการจับกุมเด็ก กับ ผู้ใหญ่
สำหรับเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553’ และ ‘พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565’
โดยเมื่อมีการจับกุมเด็กอายุต่ำกว่า 12 – 18 ปี ตำรวจ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทำการสอบสวนสอบปากคำ ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย และให้ ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
ในส่วนการออกหมายจับเด็กและเยาวชน ศาลจต้องคํานึงถึงการคุ้มครองสิทธิเป็นสําคัญ โดยเฉพาะในเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็กหรือเยาวชน หากการออกหมายจับจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงโดยไม่จําเป็น ให้พยายามเลี่ยง และใช้วิธีติดตามตัวแทน
หรือแม้แต่การบันทึกภาพผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้จับกุมที่ต้องควบคุมไม่ให้มี การสอบสวนต้องทําในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือลักษณะเป็นการประจาน
ทั้งนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในคดีซึ่งเด็กและเยาวชนต้องหาว่ากระทําความผิดไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามพระราชบัญญัติอื่นๆ รวมทั้งคดีอาญาที่โอนมาจากศาลธรรมดาในกรณีที่จําเลยอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบรูณ์
ถ้าสำนึกผิดเด็ก(ที่กระทำผิด)ไม่ต้องถูกส่งฟ้อง
เกิดขึ้นได้ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนสํานึกในการกระทําก่อนฟ้องคดี เมื่อคํานึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต อาชีพ ฐานะ และเหตุแห่งการกระทําความผิดแล้ว หาก ผู้อํานวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง
ขั้นต่อไปเป็นการจัดทําแผน แก้ไขบําบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ เพื่อปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม
แต่ทั้งนี้การจัดทําแผนแก้ไข บําบัดฟื้นฟูต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและเด็กหรือเยาวชนด้วย
ปรับอายุเด็กจาก 10 ปีเป็น 12 ปีให้ไม่ต้องรับโทษเมื่อทำผิด
ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็ก ‘ไม่เกิน 10 ปี’ ให้ไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้
แต่ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ ระบุว่า เด็กอายุ 12 ปี กับ เด็กอายุ 10 ปี ไม่มีความแตกต่างกันมากนักเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญาจริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และ ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ
อีกทั้งเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พุทธศักราช 2565 เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปี ได้รับผลดีมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุด ของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากร ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้
ฉะนั้นแล้วจากเดิมเด็กอายุไม่เกิน 10 ปีเมื่อทำผิดจะไม่ต้องรับผิด พรบ.ฉบับนี้ได้ขยายช่วงเวลาเพิ่มขึ้นให้จากนี้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีทำผิดไม่ต้องรับผิด
อ้างอิงข้อมูล :
สำนักงานกิจการยุติธรรม