รีเซต

บริการบอลลูนท่องอวกาศของญี่ปุ่นคืบหน้า ทดสอบบินสูง 6 กิโลเมตรสำเร็จ

บริการบอลลูนท่องอวกาศของญี่ปุ่นคืบหน้า ทดสอบบินสูง 6 กิโลเมตรสำเร็จ
TNN ช่อง16
8 กันยายน 2566 ( 10:37 )
86

บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น อิวายา กิเก็น (Iwaya Giken) เผยความคืบหน้าในการเตรียมเริ่มเที่ยวบินท่องอวกาศด้วยบอลลูนบรรจุฮีเลียมขนาดยักษ์ โดยล่าสุดทดสอบปล่อยบอลลูนพร้อมห้องโดยสารที่มีพนักงานทดสอบ ลอยสูงเหนือพื้นดินที่ความสูง 19,700 ฟุต หรือ 6 กิโลเมตร และสามารถกลับสู่พื้นโลกได้สำเร็จ โดยหวังว่าจะสามารถปล่อยบอลลูนให้สูงถึงระดับ 82,021 ฟุต หรือ 25 กิโลเมตรเหนือพื้นดินให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในสิ้นปีนี้


ภาพจาก Iwaya Giken

 

การทดสอบครั้งนี้ เป็นการปล่อยบอลลูนพร้อมห้องโดยสารขนาดเล็ก ความสูง 1.5 เมตร กว้าง 1.1 เมตร ซึ่งบรรทุกวิศวกรประจำบริษัทไว้ภายใน 1 คน เมื่อบอลลูนลอยขึ้นไปที่ระดับความสูงที่กำหนด ทางวิศวกรก็ได้ทำการปล่อยแก๊สออกจากบอลลูน ทำให้มันค่อย ๆ ลอยต่ำลง โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็ตกลงสู่พื้นได้สำเร็จ โดยลงจอดห่างจากจุดปล่อยเดิม 26 กิโลเมตร


ภาพจาก Iwaya Giken

อย่างไรก็ตาม ห้องโดยสารจริง ๆ ที่จะใช้รองรับนักท่องเที่ยว จะเป็นห้องโดยสารสุญญากาศทรงกลมรองรับได้ 2 ที่นั่ง และออกแบบให้สามารถรับชมวิวได้แบบ 360 องศาผ่านหน้าต่างหลายบานรอบตัว นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีความปลอดภัยมากที่สุด เช่น มีระบบรักษาอุณหภูมิ และระบบลดแรงสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารมาให้อีกด้วย


และถึงแม้ว่าบริการของ อิยาวา กิเก็น จะเรียกตัวเองว่าเป็น “บอลลูนท่องอวกาศ” แต่อย่างไรก็ตาม ความสูงที่บอลลูนและตัวห้องโดยสารจะสามารถเดินทางไปถึงได้จริงนั้น จะยังอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก คือ 25 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก หรืออยู่ในระดับชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) เท่านั้น แต่ถ้าเป็นระดับชั้น “อวกาศ” จะต้องอยู่ที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลกตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป 

ภาพจาก Iwaya Giken

 

บริษัทมองว่าในระดับความสูงดังกล่าว อย่างน้อยก็ยังทำให้ผู้โดยสาร สามารถมองเห็นบรรยากาศท้องฟ้าได้โดยไม่มีอะไรมากีดขวาง อีกทั้งยังสามารถเห็นความโค้งของโลกได้ด้วย จึงเป็นทางเลือกสำหรับใครที่อยากขึ้นไปชมบรรยากาศความงามจากบนท้องฟ้า ที่เข้าใกล้อวกาศมากขึ้น 


โดยปัจจุบันบริษัทกำลังเปิดรับจองเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเริ่มเที่ยวบินแรกในเดือนมีนาคมปี 2024 นี้ โดยราคาค่าตั๋วของบริการนี้ จะอยู่ที่คนละ 164,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ราว 5,800,000 บาท



ข้อมูลจาก interestingengineering, tnnthailanddailymail

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง